รายงานการเมือง
ใครจะเข้าวินได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ให้เข้ารอบเป็น “5 ว่าที่กรรมการ ป.ป.ช.” ชุดใหม่ จากผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 59 คน ก็จะได้รู้กันในวันจันทร์ที่ 19 ต.ค. นี้
การเลือก ป.ป.ช. รอบนี้ หลายฝ่ายให้ความสนใจมากเป็นพิเศษเหตุเพราะเป็นการเลือกที่มีจำนวนมากที่สุดเลยก็ว่าได้ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา เพราะนับแต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ใช้อำนาจหัวหน้า คมช. หลังทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ด้วยการตั้ง 9 ป.ป.ช. แล้วจากนั้นก็มีกรรมการ ป.ป.ช. ชุดดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 4 คน พ้นจากตำแหน่งไปเพราะอายุครบ 70 ปี
แต่ก็เป็นการทยอยพ้นจากตำแหน่งไปทีละคน เช่น สมลักษณ์ จัดกระบวนพล - กล้านรงค์ จันทิก -ใจเด็ด พรไชยา จึงทำให้ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการสรรหาและคัดเลือก ป.ป.ช. ทีเดียวหลายตำแหน่งเหมือนรอบนี้ที่เลือกกันล็อตเดียว 5 คน ที่เป็นเสียงข้างมากในคณะกรรมการเสียด้วย แถมตัวประธาน คือ ”ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” ก็จะพ้นจากตำแหน่งไปด้วย จึงทำให้ต้องมีการเลือกประธานป.ป.ช. คนใหม่ หลังกรรมการ 9 คน เริ่มต้นทำงานพร้อมกัน
ด้วยเหตุนี้ การเลือก ป.ป.ช. รอบนี้จึงมีผู้สมัครกันมาก ถึง 59 คน เพราะเมื่อมีการเลือกกันถึง 5 คน โอกาสที่จะเบียดกันเข้ารอบ มันก็มีสูง เลยทำให้มีคนสมัครกันมาก เผลอ ๆ อาจได้เป็นประธานป.ป.ช. ขึ้นมาอีก อีกทั้งเป็นตำแหน่งที่อยู่ยาว 9 ปี อำนาจก็มีมาก โดยเฉพาะดูแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่การร่าง รธน. ฉบับใหม่ ทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะร่าง รธน. โดยติดดาบอำนาจให้ ป.ป.ช. มากขึ้น จึงทำให้ ป.ป.ช. ที่ปกติทุกคนก็ยำเกรงกันอยู่แล้ว ก็จะมีอำนาจมากขึ้นไปอีก จึงทำให้ทุกฝ่ายจับตามองการเลือกป.ป.ช.ครั้งนี้มากกว่าปกตินั่นเอง
ต้องดูกันว่า คนไหนจะได้รับเลือกให้เข้าไปเป็นว่าที่ ป.ป.ช. กันบ้าง จากการโหวตของกรรมการสรรหาที่มีด้วยกัน 4 คน ดังนี้ นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการสรรหา วีรพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตามติ ครม. ที่ส่งมาเป็นกรรมการสรรหา
และจริง ๆ แล้วยังต้องมี ประธานศาลปกครองสูงสุด ด้วยอีกหนึ่งคน แต่ก็อย่างที่เคยบอกไปตอนนี้ ตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดว่างอยู่ เพราะ “หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล” ถูกคณะกรรมการตุลาการศาลมีมติให้ออกจากราชการ เลยทำให้ตอนนี้ไม่มีประธานศาลปกครองสูงสุด ก็เลยส่งผลให้กรรมการสรรหา ป.ป.ช. ก็มีตามที่บอกไว้ข้างต้น
ก็ส่งผลให้การออกเสียงเลือกผู้สมัครจาก 59 คน ซึ่งมีข่าวว่าก็อาจมีบางคนขาดคุณสมบัติก็ได้ หากกรรมการสรรหาคุยกันไม่ลงตัวในตอนโหวตลับ ก็อาจต้องลงมติกันหลายรอบ เนื่องจากคะแนนเสียงของกรรมการที่เป็น 4 เสียง เป็นเลขคู่ ไม่ใช่เลขคี่ จึงทำให้คาดว่า อาจมีการลงมติกันหลายรอบพอสมควร กว่าจะได้ข้อยุติได้รายชื่อครบทั้ง 5 รายชื่อ ที่จะต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสรรหา ก็คือต้องได้ 3 เสียงขึ้นไปในแต่ละรายชื่อที่โหวตกันออกมา
ทั้งนี้ แม้กรรมการสรรหาอาจจะมีคนที่อยู่ในฝ่ายการเมืองปนอยู่ด้วย แต่ก็เชื่อได้ว่า คนระดับผู้หลักผู้ใหญ่ขนาดนั้น เห็นอะไรมามากมายโดยเฉพาะเห็นแล้วว่าหากองค์กรอิสระถูกฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงจะมีผลเสียต่อส่วนรวมอย่างไร ดังนั้น ก็ต้องเชื่อใจกรรมการสรรหาทุกคนว่าจะทำหน้าที่เลือกคนที่ดีที่สุดไปทำหน้าที่ ป.ป.ช. เพื่อเป็นด่านสำคัญของแผ่นดินในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน
เพราะหากเลือกคนไม่ดีเข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้ยาวนานถึง 9 ปี ความเสียหายจะเกิดกับแผ่นดินมากมาย การเลือกคนไปเป็น ป.ป.ช. จึงเป็นด่านสำคัญมาก ทางกรรมการสรรหาคงไม่ทำให้สังคมผิดหวัง
ยิ่งหากฟังจากข้อมูลการแถลงผลงานของ ป.ป.ช. เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่บอกว่า ตอนนี้มีคดีค้างอยู่ในสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งสิ้น 11,048 เรื่อง แบ่งเป็นคดีนักการเมืองท้องถิ่น 50% คดีเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ระดับ ผอ. ขึ้นไป 25% ส่วนที่เหลือเป็นคดีเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างและองค์กรอิสระ โดยเฉพาะการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองท้องถิ่นและเปิดเผยว่า ในส่วนคดีทุจริตและการร่ำรวยผิดปกติที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้วในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556 - 2558 นั้น มีความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 525,117,282,617 บาท จาก 193 คดี แบ่งเป็นมูลค่าความเสียหายปี 56 จำนวน 34 คดี มูลค่า 24,881,163,350 บาท ปี 57 รวม 63 คดี มูลค่า 332,912, 677,611 บาท และปี 58 รวม 96 คดี มูลค่า 167,323,441,655 บาท ป.ป.ช.จึงเห็นว่าเป็นความเสียหายของรัฐอย่างประเมินค่าไม่ได้ แสดงว่า ความรุนแรงของการทุจริตยังคงอยู่
เมื่อปัญหาความรุนแรงจากการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยรุนแรงขนาดนี้ การได้คนมาเป็น ป.ป.ช. 5 คน ที่จะมาสานงานต่อจากนี้จึงสำคัญมาก ไม่ใช่เลือกใครก็ได้มาทำหน้าที่
โดยจากรายชื่อผู้สมัครทั้ง 59 คนต้องยอมรับกันว่า รอบนี้มีคนดี - เด่น - ดัง มาสมัครกันมาก เช่น มาจากสายตุลาการ - อดีตทหาร ตำรวจ - อดีตข้าราชการระดับสูง แม้แต่พวกที่เป็นระดับปลัดกระทรวงตอนนี้ก็ยังมาสมัคร เลยน่าจะทำให้กรรมการสรรหามีตัวเลือกมาก ตรงนี้ก็เป็นจุดดี เพราะตัวเลือกมาก ก็ทำให้ได้เลือกคนที่เห็นสมควร ดีกว่ามีตัวเลือกน้อย แถมยังเป็นไม่มีคุณภาพ
ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเก็งรายชื่อตัวเต็งที่คาดว่าอาจติดโผกันออกมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นแค่การคาดการณ์ของสื่อมวลชนและผู้สนใจในแวดวงนี้เท่านั้น ซึ่งรายชื่อที่มีการพูดถึงกัน อาทิเช่น พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรักษาการ ผบ.ตร. ที่ลาออกจากตำแหน่งการเมืองมาสมัครเป็น ป.ป.ช. เลย โดยทิ้งเก้าอี้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) มาสมัคร จนทำให้ถูกเก็งกันว่าน่าจะเป็นชื่อหนึ่งที่มีโอกาสลุ้นสูง ส่วนอดีตตำรวจคนอื่น ๆ เช่น พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ดูแล้ว ไม่น่าได้ เพราะตอนนี้ก็เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ ไปแล้ว
ขณะที่ตัวเต็งคนอื่น ก็มีอาทิเช่น ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา สุวณา สุวรรณจูฑะ ปลัดกระทรวงยุติธรรม สรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ธงชัย ลืออดุลย์ อดีตผู้ว่าฯนครราชสีมา เสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตกรรมการ คตส. ประพีร์ อังกินันทน์ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล รองอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 1 เป็นต้น
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สุดท้าย จะมีคนที่น่าจะได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งไม่ติดอยู่ในชื่อที่คนคาดการกันมาก่อนจะได้รับเลือกเข้ามาอย่างน้อย 1 - 2 คน ชนิดให้หลายคนฮือฮากันเล่น แต่จะเป็นชื่อไหน ต้องรอฟังมติคณะกรรมการสรรหาที่จะออกมากันในวันที่ 19 ต.ค. นี้
ส่วนเมื่อกรรมการสรรหาเลือกกันมาแล้ว ก็ต้องส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โหวตเห็นชอบอีกรอบหนึ่ง แต่แนวโน้มหากชื่อที่เลือกออกมา ไม่ได้มีเสียงต้านอะไรมากมาย ก็น่าจะผ่านในชั้น สนช. ไปได้แบบราบรื่น แล้ว ป.ป.ช. ก็จะได้ทำงานกันเต็มทีม 9 คน เดินหน้าเอาผิดพวกทุจริตหนักแผ่นดินต่อไป
แต่หากได้คนไม่ดีไปเป็น ป.ป.ช. ก็สงสัย เป็นเคราะห์กรรมของประเทศ กันละทีนี้