xs
xsm
sm
md
lg

“ประวิตร” เมินบีอาร์เอ็นขอต่างชาติร่วมสังเกตการณ์คุยสันติภาพใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (แฟ้มภาพ)
“บิ๊กป้อม” ลั่นเป็นไปไม่ได้ บีอาร์เอ็นขอให้ต่างชาติร่วมสังเกตการณ์พูดคุยสันติภาพภาคใต้ เลขาฯ สมช.คาดบีอาร์เอ็นยังไม่เป็นเอกภาพ ทำให้มีบางส่วนออกมาตั้งเงื่อนไข ยันรัฐบาลจริงใจในการเจรจา ด้าน กอ.รมน.ไม่ยืนยันเอกสารบีอาร์เอ็นที่ออกมาของจริงหรือไม่ เบื้องต้นพบเนื้อหาบางส่วนมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เรียกร้องงดให้ข่าวด้านเดียว แนะร่วมพูดคุยสันติภาพ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุม ครม.ถึงกรณีที่กลุ่มบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์เรียกร้องให้การพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมีผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติเข้าร่วมอย่างเปิดเผยว่า คงไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ต่างชาติเข้ามาร่วมสังเกตุการณ์ พล.อ.ประวิตรกล่าวสั้นๆ ว่า “เป็นไปไม่ได้”

ด้าน พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า การที่กลุ่มบีอาร์เอ็นแถลงปฏิเสธการเจรจาสันติสุขใต้ร่วมกับรัฐบาลไทยนั้น เชื่อว่าในแต่ละกลุ่มมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยในการเจรจา ดังนั้นในบีอาร์เอ็นจึงยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ หรือว่ายังไม่เป็นเอกภาพกันทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้วางแผนเกี่ยวกับการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง เพราะการพูดคุยถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาลดความรุนแรง ซึ่งในระหว่างพูดคุยจะต้องมีความก้าวหน้า เช่น การลดความรุนแรง เพื่อพิสูจน์ว่าการพูดคุยนั้นได้ผลจริง ส่วนที่บีอาร์เอ็นต้องการให้นานาชาติเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์นั้น รัฐบาลยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาภายในประเทศไทยและต้องทำตามกรอบเดิมที่วางไว้ โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

“เจรจาก็เพื่อหาจุดร่วมที่ตรงกัน แต่ไม่ใช่คุยกันครั้งสองครั้งแล้วจะตกลงกันได้หมด เพราะเรื่องต่างๆ มีความซับซ้อนเป็นปัญหายืดเยื้อยาวนาน ดังนั้นจึงต้องมีความละเอียดอ่อนรอบคอบ เพื่อทยอยแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ยืนยันว่าเรายังคงดำเนินการไปตามกรอบเดิม ซึ่งการเจรจาครั้งต่อไปจะมีขึ้นในห้วงเวลาที่เหมาะสม ตอนนี้อยู่ในระหว่างการนัดวันเวลา โดย พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การเจรจาควรจะตกลงในเรื่องของการออกแถลงการณ์หรือการยื่นข้อเสนอผ่านสื่อให้มีความชัดเจน เพราะเมื่อพูดคุยเสร็จหากจะมีการแถลงก็ควรจะเป็นความเห็นชอบร่วมกันและชี้แจงให้สังคมทราบไปพร้อมๆ กัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่บีอาร์เอ็นไม่ยอมพูดคุย เพราะกล่าวหาว่ารัฐบาลไทยไม่มีความจริงใจแต่ต้น เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เรามีความจริงใจในการเจรจาสันติสุข เพราะหากไม่มีความจริงใจก็คงไม่มีการพูดคุย ทุกคนทราบว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงอยู่ที่การตกลงทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเพื่อทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบสุข

ส่วน พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะรองโฆษกคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงกรณีที่การเผยแพร่เอกสารที่อ้างเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นลงวันที่ 12 ต.ค. 58 ทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษมีความยาว 4 หน้า โดยมีเนื้อหาไม่ไว้วางใจกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐบาลไทย พร้อมเสนอให้มีผู้ไกล่เกลี่ยและสังเกตการณ์จากต่างประเทศนั้น ขณะนี้ได้ตรวจสอบในเบื้องต้นแล้วยังไม่ขอยืนยันที่มาและความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว

แต่สำหรับเนื้อหาบางส่วนผลิตซ้ำๆ และนำเสนอออกสู่สาธารณชนพบว่ามีบางประเด็นที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงจนอาจทำให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ จึงขอเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลเหล่านั้นงดให้ข่าวสารด้านเดียวตามลำพัง และหันมาเข้าร่วมกระบวนการพูดคุยฯ ด้วยความจริงใจ ใช้เวทีการพูดคุยเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสดงท่าทีในเชิงสร้างสรรค์ต่อกันให้พร้อมที่จะพัฒนาเข้าสู่ระยะการพูดคุยอย่างเป็นทางการจนนำไปสู่การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี เพื่อนำสันติสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามความคาดหวังของสังคม

พล.ต.บรรพตกล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯอยู่ในระยะการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยความจริงใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นรอบด้านให้เกียรติซึ่งกันและกันบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของทุกฝ่ายด้วยเป้าประสงค์สุดท้ายที่เห็นพ้องร่วมกันคือ การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี กระบวนการที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากประชาคมต่างๆ ด้วยดี และมีความก้าวหน้าในหลายมิติ ข้อหารืออย่างไม่เป็นทางการทุกข้อที่แต่ละฝ่ายได้นำเสนอในเวทีการพูดคุยนั้น ได้ผ่านการสนทนาเชิงอภิปรายของแต่ละกลุ่มพร้อมการถกแถลงด้วยเหตุและผลที่หลากหลายทุกครั้ง ภายหลังจากนั้นแต่ละฝ่ายจึงไปจัดทำเอกสารประกอบความเห็นเป็นรายประเด็นยื่นผ่านผู้อำนวยความสะดวกเพื่อเป็นหลักฐาน แต่ยังไม่พร้อมนำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันประเด็นที่ยังไม่ได้เห็นชอบร่วมกันถูกนำมาวิเคราะห์ในวงกว้างจนเกินเลย

สำหรับกำหนดการพูดคุยครั้งต่อไปผู้อำนวยความสะดวกกำลังพยายามจัดให้มีขึ้นโดยเร็วที่สุดเมื่อทุกฝ่ายมีความพร้อม โดยความคืบหน้าล่าสุดคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยได้จัดเตรียมชุดความคิดในแต่ละด้านไว้แล้ว ได้แก่ ด้านความปลอดภัย ด้านการพัฒนา และด้านความยุติธรรม เตรียมเป็นประเด็นข้อหารือเพื่อนำเสนอให้พิจารณาต่อไป

ส่วนกรณีแบบนี้จะทำให้เกิดอุปสรรคจนกระบวนการพูดคุยฯยืดเยื้อหรือไม่ พล.ต.บรรพตกล่าวว่า ระยะนี้อยู่ในช่วงการสร้างความไว้วางใจ และเชิญชวนกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมพูดคุยอยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจจะเกิดแรงกระเพื่อมอยู่บ้าง แต่เราจะต้องพยายามต่อไป หากกลุ่มต่างๆ เห็นว่าการพูดคุยเป็นประโยชน์ที่จะนำสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ขอให้เข้ามาร่วมพูดคุยกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น