xs
xsm
sm
md
lg

“ประวิตร” ถก คกก.ยุทธศาสตร์แก้ IUU การบิน ชดเชยประมง - 3,800 ร.ร.พร้อมลดเวลาเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม(แฟ้มภาพ)
รมว.กลาโหมหารือ คกก.ยุทธศาสตร์ รับเจ้าหน้าที่ไอยูยูตรวจความพร้อม 12 ต.ค. ชดเชยเรือประมง 228 ล้าน แก้ปัญหาการบิน พร้อมเสนอข้อมูลนายกฯ เผย 3,800 โรงเรียนร่วมโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเรียนรู้ เริ่มทดลองเทอม 2

วันนี้ (7 ต.ค.) ที่อาคารบ้านพักเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและการควบคุม หรือไอยูยู เพื่อรับเจ้าหน้าที่จากไอยูยูที่จะมาตรวจความพร้อมในวันที่ 12 ต.ค.นี้ รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการเรือประมงที่จะนำเข้า ครม.สัปดาห์หน้า โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม แต่เหลือ 1 กลุ่มที่ยังไม่เรียบร้อย นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพูดถึงแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) กำหนดให้ดำเนินการ ซึ่งทางพล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ผบ.ศบปพ.) ก็ดำเนินการไปได้พอสมควรแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนและได้มาตราฐานพร้อมรับการตรวจจาก FAA โดยตนจะนำข้อมูลที่ได้รับเสนอให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบว่าจะมีคำสั่งการอะไรลงมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เตรียมเสนอของบ 228,516,200 ล้านบาท เข้าที่ประชุม ครม.สัปดาห์หน้า เพื่อชดเชยให้ผู้ประกอบการเรือประมงใน 2 ส่วน คือ เรือประมงที่ไม่มีเอกสารและต้องหยุดเรือไปมีจำนวน 4,500 ลำ และอีกส่วนคือเครื่องมือที่ตรงกับอาชญาบัตร มีเรือ 330 ลำ และโพงพางอีก 4 ราย ตลอดจนการยกเลิกอวนรุน อวนลาก ในส่วนของเรือที่มีเครื่องมือไม่ตรงอาชญาบัตร มี 2,658 ลำ ส่วนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องตรวจสอบข้อมูลในฐานระบบเพื่อให้เกิดความชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ พล.อ.ประวิตรยังได้หารือถึงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยขณะนี้มี 3,800 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยการบูรณาการงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ ที่มีงบประมาณในลักษณะนี้ ในส่วนของภาคเอกชนได้ขอความร่วมมือไปว่าบริษัทใดที่มีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอยู่ในพื้นที่ขอให้สนับสนุนงบประมาณในส่วนของความร่วมมือความรับผิดชอบต่อสังคม โดยจะเริ่มทดลองใช้ในวันเปิดเทอมที่ 2 พ.ย.นี้ พร้อมวัดผลหลังเรียนจบ 1 เทอม โดยการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ จะดำเนินการใน 3 กลุ่ม คือ 1. เพิ่มสมรรถนะการเรียนรู้ 2. ทัศนคติ ค่านิยม 3. ทักษะ โดยขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังอยู่ในระหว่างการอบรมในเชิงปฏิบัติการให้แก่ครูใน 4 ส่วน คือ (1. หลักสูตร การปรับเนื้อหา (2. กระบวนการจัดการเรียนรู้ (3. วัดผล ประมวลผล (4. ทบทวนการปฏิบัติ


กำลังโหลดความคิดเห็น