รองประธาน สนช.ย้ำไม่มีปัญหา อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ “ตัวแทน สนช.หนึ่งเดียว” นั่ง กรธ.ชุดมีชัย เชื่อประสาน สนช.-กรธ.ได้ “ยะใส” ชี้มาตรฐาน “กรธ.มีชัย” ไม่ต่าง “กมธ.ชุดบวรศักดิ์” วิพากษ์อดีต 4 สปช.นั่ง กรธ.ต้องกล้าดันร่าง รธน.ที่ตกไปมาปรับปรุงแก้ไข ด้าน “ไพบูลย์” อกหัก! เชื่อชุดนี้ดีกว่า กมธ.ยกร่างฯ ชุดเก่า ย้ำจะเป็นเอกภาพมากกว่าเดิม เหตุ คสช.เลือกมากับมือ
วันนี้ (5 ต.ค.) มีรายงานว่า ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 21 คน มีความเห็นจากหลากหลาย เช่น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้ง พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ ตัวแทนจาก สนช.เพียงคนเดียวว่า คงไม่เป็นปัญหา เพียงแค่คนเดียวก็สามารถเชื่อมโยงการทำงานระหว่าง สนช.กับ กรธ.ได้ สิ่งสำคัญคือ เราได้คนที่มีความเข้าใจและมีเวลาเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญที่มีกำหนดว่า ต้องจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
ส่วน สนช.เองก็จะช่วยเป็นฐานรวบรวมข้อมูลข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญไปให้ ซึ่งก็จะใช้ทั้งข้อมูลชุดเดิมที่มีอยู่แล้วจากคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบกับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติม ในโครงการ สนช.พบประชาชน
ทั้งนี้ กมธ.พิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีกำหนดนัดประชุมเพื่อเตรียมพร้อมการทำงานควบคู่ไปกับ กรธ.ในสัปดาห์หน้า ซึ่งกระบวนการดำเนินการก็จะทำการพิจารณาแล้วสรุปเป็นรายงานการศึกษา ให้ที่ประชุมใหญ่ สนช.เห็นชอบก่อนจะส่งให้ กรธ.พิจารณาเป็นรายประเด็นไป เพราะหากรอสรุปประเด็นทั้งหมดแล้วส่งไป กรธ.ตอนหลังทีเดียวก็เกรงว่าข้อเสนอนั้นอาจเป็นหมันได้ ถ้า กรธ.พิจารณาเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็อาจจะทำให้ไปปรับแก้ตามข้อเสนอแนะของทาง สนช.ไม่ได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เท่าที่ตนได้เห็นโฉมหน้าของ กรธ.ชุดใหม่ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานแล้ว คิดว่าดีกว่า กมธ.ยกร่างฯ ชุดเก่า เพราะไม่มี กมธ.ยกร่างฯ ชุดเก่าเข้าไปทำหน้าที่เลย ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเริ่มทำในกรอบใหม่ อีกทั้งตัวประธานและกรรมการก็มีสัดส่วนออกมาดี เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในหลายๆ ด้าน
“คิดว่าแนวทางการร่างของ กรธ.จะเป็นแนวทางเหมือนบุคลิกของนายมีชัย คือ สุขุม นุ่มลึก มีความระมัดระวังในการร่าง คงไม่มีข่าวที่ต้องห่วงรายวัน และคิดว่าการทำงานของ กรธ.ครั้งนี้จะเป็นเอกภาพมาก เพราะมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเดียว ไม่มีการรับฟังข้อเสนอแนะปรับแก้จาก สปช. ซึ่งเป็นภาระของ กมธ.ยกร่างฯ มาก ซึ่ง คสช. ครม. จะต้องเตรียมความพร้อม ในการผลักดันการสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการทำประชามติคงจะผ่านอยู่แล้ว” นายไพบูลย์กล่าว
ทั้งนี้ ตนมีข้อสังเกตว่า กรธ.ชุดนี้มีอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาทำหน้าที่ถึง 2 คน ดังนั้นคงจะมีการเน้นปฏิรูปเรื่องการเมือง โดยเฉพาะเรื่องระบบการเลือกตั้ง ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่ผ่านมาก็คือ การที่มีการใช้เงินจำนวนมากเข้าสู่ตำแหน่ง คงต้องมีการหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ต้องใช้เงินมาก ในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นเรื่องระบบการเลือกตั้งคงจะต้องมีการปฏิรูปแน่นอน
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ภาพรวมโดยมาตรฐานไม่ได้โดดเด่นไปกว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนในชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แม้บางคนจะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในหลายส่วน แต่ก็มาจากภาคราชการจึงห่วงว่าความคิดแบบราชการอาจครอบงำเส้นทางและสาระของการปฏิรูป นอกจากนี้ บางคนแม้จะเป็นบุคคลที่สังคมรู้จักแต่ก็ไม่ได้มีความคิดในเรื่องปฏิรูปจึงเห็นได้ว่า กรธ.ชุดนี้ไม่ได้มีมาตรฐานสูงกว่า กมธ.ยกร่างฯ แต่อย่างใด ทั้งนี้ประเด็นที่ท้าทายของกรธ.คือ วิธีการและรูปแบบในการรับฟังความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา 6 เดือน ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นของหลายฝ่าย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาและองค์กรภาคประชาสังคมที่อยากมีส่วนร่วมแต่ไม่มีเวที หากคิดว่าเป็นอรหันต์โดยไม่สนใจความคิดเห็นของฝ่ายอื่นๆ ก็อาจจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาและไม่ตอบโจทย์ความหลากหลายของสังคม
“กรธ.ควรมีกลไกรับฟังความเห็นจากสภาขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) ด้วย ให้เหมือนกับ กมธ.ยกร่างและ สปช. เนื่องจากตามกรอบรัฐธรรมนูญชั่วครามพบว่า ไม่มีการเชื่อมต่อกันระหว่าง กรธ.และ สปท. ต่างคนต่างทำหน้าที่ ทั้งที่มีเป้าหมายเดียวกัน ทั้งนี้ฝากถึงนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับการร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับคงมีบทเรียนที่สั่งสมมาปรับปรุงแก้ไขและออกแบบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปให้มากที่สุด โดยเฉพาะความคิดที่ยึดมั่นถือมั่นกับกลไกระบบราชการโดยไม่สนใจความตื่นตัวของพลเมือง ถ้าไม่เข้าใจประเด็นดังกล่าวจะทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญผิดทิศผิดทางและส่งผลในระยะยาวได้” นายสุริยะใสกล่าว
นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญอาจใช้จุดแข็งของรัฐธรรมนูญปี 40 ปี 50 และรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์มาสังเคราะห์ เนื่องจากเห็นพัฒนาการของการเมืองภาคพลเมืองโดดเด่นจากอดีต ส่วนอดีต สปช.ที่เข้ามารับตำแหน่ง กรธ.4 คน คือ นางจุรี วิจิตรวาทการ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ นายศุภชัย ยาวะประภาษ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ต้องนำเอาประสบการณ์จากร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปมาปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะการยืนยันในหลักการพลเมืองเป็นใหญ่ ทั้ง 4 คนควรเข้าไปผลักดันเรื่องดังกล่าว ส่วนกระแสข่าวที่อยากให้เป็นรัฐธรรมนูญสุดท้ายนั้น อย่าไปคาดหวัง เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดก็ต้องปรับปรุงแก้ไขกันไปเรื่อยๆ