"พิเชฐ" เยือนญี่ปุ่นเป็นทางการ รับได้ประโยชน์มาก ถกปธ.สภาอุตสาหกรรม เผย ไทยหนุนSMEต่างชาติหวังให้มาลงทุน รับGRIPSตื่นเต้นปรับวท.จากสายสังคมเป็นสายศก. คุยปธ.OVOP ที่ลักษณะคล้ายOTOP ถึงปรัชญาพัฒนา ยกศก.พอเพียงสามารถนำพัฒนาได้เช่นกัน หนุน ไม่เน้นแต่ให้ปชช.อยู่ดี แต่ต้องให้มีความพึงพอใจ
วันนี้ (5ต.ค.) ในการเดินทางเยือน ประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม 2558 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้าร่วมหารือกับภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนความเข้มแข็งของชุมชนในบริหารจัดการเอสเอ็มอี
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้ได้รับประโยชน์อย่างมากมาย โดยเฉพาะได้เห็นพัฒนาการของประเทศชั้นนำอย่างญี่ปุ่น ที่เติบโตด้วยความเข้มแข็งโดยยังคงเอกลักษณ์ของประเทศไว้อย่างมั่นคง ขณะเดียวกันก็มีการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนในทุกมิติเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยได้มีโอกาสเข้าพบและหารือกับ Dr. Sadayuki Sakakibara ประธานของ Japan Business Federation (KEIDANREN) หรือสภาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น การเดินทางมาประชุมหารือในครั้งนี้เพื่อบอกเล่าถึงนโยบายของรัฐบาลไทยในการสนับสนุนเอสเอ็มอีต่างชาติที่จะลงทุนในประเทศไทย โดยได้ปรับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี การสนับสนุนกำลังคนด้านวทน. เพื่อทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้ รวมถึงอุทยานวิทยาศาสตร์ที่สามารถสนับสนุน SME ของชาวญี่ปุ่นได้ โดยหวังว่าทาง KEIDANREN จะเป็นผู้ประสานงานภาคเอกชนในญี่ปุ่นให้มาลงทุนในประเทศไทยในฐานะที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
ขณะเดียวกันได้หารือกับผู้บริหารของ สถาบันบัณฑิตพัฒนานโยบายแห่งชาติNational Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยได้อัพเดทถึงการปรับการทำงานของ วท. จากกลุ่มกระทรวงสายสังคม ไปอยู่กลุ่มกระทรวงสายเศรษฐกิจ ซึ่งทาง GRIPS ตื่นเต้นกับบทบาทใหม่นี้มาก และได้หารือกันถึงความร่วมมือทางด้านนโยบาย วทน. ในอนาคต หลังจากที่เคยมีความร่วมมือในการให้ทุนสนับสนุนทางด้านการพัฒนานโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับประเทศไทยจำนวนสองทุนมาแล้ว
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้ไปเยือนเมืองโออิตะ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ได้พูดคุยกับคุณ Tadashi Uchida ประธานกลุ่ม OVOP (One Village On Product) ซึ่งมีลักษณะเหมือน OTOP ของประเทศไทย โดยท่านอูชิดะ บอกว่าปรัชญาของการพัฒนา OVOP มี 3 ข้อหลัก ๆ คือ ทำให้ประชาคมมีรายได้เพิ่มขึ้น ชุมชนมีความภูมิใจในความสามารถที่จะสร้างสินค้าแปรรูปได้ด้วยตัวเองซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญ และในระยะยาวความเป็นครอบครัวจะเหนียวแน่น คนรุ่นใหม่ไม่เข้าเมืองมากเกินไป นี่คือความยั่งยืนของสังคมชุมชนที่เนื่องจากชุมชนมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยได้อ้างอิงถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ซึ่งเขาเชื่อว่าประเทศไทยเองก็จะสามารถพัฒนาให้มีความเข้มแข็งในลักษณะเดียวกันได้ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตเหมือน OVOP ที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 40 ปี
“ข้อคิดเห็นที่มีความน่าสนใจของท่านประธานฯ OVOP คือ สิ่งที่เขาทำอยู่ขณะนี้ คือประเทศเอง ไม่ควรเน้นเพียงการทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นแล้ว โดยเน้นเพียงการเติบโตของรายได้ผ่านการชี้วัดเป็น GNP (Gross National Product) มาเป็นที่ตั้ง แต่แนะนำว่าเราควรจะคิดอีกด้านหนึ่งด้วย GNS (Gross National Satisfaction) คือให้คนเราอยู่อย่างมีความพึงพอใจ และความสุขกับครอบครัว กับชุมชนและสังคมรอบข้าง” รมว.วิทยาศาสตร์ กล่าว