“นายกรัฐมนตรี” กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสหประชาชาติ ประกาศผลักดัน “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตามที่ได้รับมอบหมายให้เป็น 1 ใน 30 ประเทศของคณะทำงานยูเอ็นในการพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลักนิติธรรม ส่งเสริมธรรมาภิบาล ลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเกษตรที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ที่ไทยนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาใช้ประสบผลสำเร็จมาแล้ว
ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เวลา 18.30 น.วันที่ 29 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 (UNGA70) ในหัวข้อ “The United Nations at 70 - the road ahead to peace, security and human rights” เกี่ยวกับปัญหาที่ซับซ้อนในปัจจุบัน ซึ่งไทยได้นำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่ปัญหาแต่ละประเทศมีความเฉพาะตัวจึงต้องเน้นการมองและแก้ไขปัญหาด้วยความยืดหยุ่น
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามของรัฐบาลไทยร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่สหประชาชาติ ได้ก่อตั้งและดำเนินงานมาครบรอบ 70 ปีในปีนี้ และขอบคุณมิตรประเทศที่ร่วมแสดงความเสียใจและส่งกำลังใจให้แก่ประชาชนไทย ภายหลังเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ประเทศไทยขอประณามผู้ก่อเหตุรุนแรงในครั้งนี้ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของผู้บริสุทธิ์จำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ คนไทยไม่สามารถยอมรับการก่อเหตุรุนแรงเยี่ยงนี้ได้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือที่ใดๆ ในโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยจะร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างถึงที่สุดเพื่อยุติความรุนแรง และเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์มิให้ต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเช่นนี้ต่อไป ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เผชิญร่วมกันเช่นนี้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสุขของประชาชนของโลก และชนรุ่นหลังตามเจตนารมณ์ของสหประชาชาติ
ตั้งแต่สหประชาชาติได้ก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ. 1945 ก็ได้แสดงบทบาทในการบรรเทาทุกข์และแก้ไขปัญหาของประชาคมโลก รวมทั้งจรรโลงสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงแก่มวลมนุษยชาติ ด้านการรักษาสันติภาพ สหประชาชาติ ประสบความสำเร็จในการช่วยลดความขัดแย้งและป้องกันมิให้ขยายตัว จนลุกลามกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ ไทยภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพแห่งมนุษยชาติ ในภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติหลายครั้ง นับตั้งแต่สงครามเกาหลี จนถึงภารกิจ INTERFET และ UNAMET ในติมอร์-เลสเต และล่าสุด ภารกิจ UNAMID ในพื้นที่ดาร์ฟูร์ ที่ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนภารกิจการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ ด้วยการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ ในลักษณะหน่วยเฉพาะกิจ เช่น หน่วยทหารช่าง หน่วยแพทย์ และหน่วยด้านการพัฒนา เข้าร่วมปฏิบัติการกับชาติพันธมิตรด้วย
นอกจากการปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านความปลอดภัยในพื้นที่ขัดแย้งและการปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้ว ยังเน้นงานด้านการพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เพราะสันติภาพที่ยั่งยืนจะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สหประชาชาติยังประสบความสำเร็จในการสร้างมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศแรกที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) เมื่อปี ค.ศ. 1948 เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่วางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลก และยังได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ระหว่างปี ค.ศ. 2010-2013 โดยได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรี ดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ. 2010-2011 ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงประเทศและกลุ่มประเทศที่มีความเห็นที่แตกต่าง โดยเน้นการไม่เลือกปฏิบัติ การเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมขีดความสามารถในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำหรับด้านการพัฒนา สหประชาชาติประสบความสำเร็จในการผลักดันความเจริญรุ่งเรืองสู่รัฐสมาชิก
ในโอกาสพิเศษที่ผู้นำประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้มารวมตัวกันเพื่อให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปีนี้ นั้น ประเทศไทยยังมีบทบาทนำในฐานะ 1 ใน 30 ประเทศสมาชิกของคณะทำงานเปิดของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ได้รับรองไปเมื่อวานนี้ โดยผลักดันประเด็นที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาของโลก เช่น การพัฒนาที่มีคนเป็นศูนย์กลาง การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลักนิติธรรมและการส่งเสริมธรรมาภิบาล การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเกษตรที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เป็นต้น
ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่าง “ก้าวกระโดด” ทำให้ไทยสามารถยกระดับตนเองจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ ขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้ ภายในระยะเวลาเพียง 3 ทศวรรษนั้น เป็นผลมาจากการได้รับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ และนับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เริ่มพัฒนาบทบาทสู่การเป็นประเทศ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา” ในเวทีโลกรวมทั้งสหประชาชาติ ซึ่งรากฐานสำคัญ คือ การที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนของไทยได้ดำเนินการโดยยึดแนวทางการพัฒนาตามหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ “นักพัฒนา” ที่ได้ทรงริเริ่มดำเนินการนำร่องไว้มากว่า 40 ปีแล้ว
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่มีความโยงใยซับซ้อนในหลายมิติ การแก้ปัญหาเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพ ความเป็นธรรม ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากรโลก ไม่สามารถกระทำได้โดยเน้น มิติใดมิติหนึ่งเพียงมิติเดียว และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ไม่สามารถกระทำได้เพียงลำพัง ปัญหาที่พบเห็นได้ในทุกสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ปัญหาเดียวสามารถทำให้แรงยึดเหนี่ยวทางสังคมอ่อนแอลง จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และขยายตัวไปสู่สงครามภายในประเทศ จนถึงสงครามหรือปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ระหว่างประเทศได้ในที่สุด เพื่อที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว มาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมจำเป็นจะต้องดำเนินควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการยึดหลักนิติรัฐ การส่งเสริมธรรมาธิบาลภาครัฐและเอกชน ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงโอกาสในการสร้างรายได้ที่เท่าเทียมกัน การปรับปรุงนโยบายด้านภาษี การสร้างงาน เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ และการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ที่เคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนสำหรับเยาวชนรุ่นหลัง เป็นต้น โดยคำนึงว่าโลกปัจจุบันเป็นโลกที่ไร้พรมแดน ประเทศต่างๆ จำเป็นจะต้องร่วมมือร่วมใจกันมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่จะช่วยกันดูแล แก้ไขและปรับเปลี่ยนแนวทางในการจัดการกับปัญหาร่วมกัน ความท้าทายของโลกยังมีความซับซ้อนที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว แม้ว่าจะประสบปัญหาเดียวกัน แต่ละประเทศ แต่ละภูมิภาคของโลกต่างเผชิญกับปัญหาที่มีรายละเอียดและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปตามแต่บริบทของตัวเอง ดังนั้น ทางออกของปัญหาเพียงหนึ่งเดียว จึงไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ในทุกที่ ทุกเวลา และทุกสถานการณ์
รอบปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วทุกมุมโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ที่คุกคาม ทั้ง 3 เสาหลักของสหประชาชาติ สันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา ดังจะเห็นได้จากความขัดแย้งอันเกิดจากความแตกต่างทางความคิดที่นำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงในภูมิภาคต่างๆ ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม หรือผลจากภัยธรรมชาติ
ในปี 2558 นี้ ประชาคมระหว่างประเทศกำลังจะก้าวหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ของการพัฒนา โดยจะก้าวผ่านจากกรอบเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) ไปสู่กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งทุกประเทศมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะทำให้ก้าวแรกสู่จุดหมายเริ่มต้นไปอย่างมุ่งมั่นและชัดเจน อย่างไรก็ตาม ความยั่งยืนไม่ควรถูกกำหนดไว้เพียงในกรอบของการพัฒนาเท่านั้น แต่ควรมีอยู่ในทุกๆ เสาหลักของสหประชาชาติ เนื่องจากสันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา มีความเชื่อมโยงกันอย่างแน่นเฟ้น ไทยให้ความสำคัญกับเสาหลักทั้งสามของสหประชาชาติ และได้ร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อม การลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยพิบัติ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจากธรรมชาติและความขัดแย้ง และยังมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือและแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อไปในเวทีโลก
ดังนั้น ไทยมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในพลังของประเทศสมาชิกที่จะขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ให้เราเข้มแข็งไปพร้อมๆ กัน และขอยืนยันว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับเพื่อนประเทศสมาชิก เพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายทั้งเก่าและใหม่ และนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อประโยชน์สุขร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ