ผ่าประเด็นร้อน
มีความคืบหน้าขยายขอบเขตออกไปอีกระดับหนึ่งแล้วสำหรับคดีอาญาที่ต่อเนื่องมาจากคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกอดีตผู้บริหารและกลุ่มนักธุรกิจหลายคนตั้งแต่ 12-18 ปีจากกรณีการปล่อยกู้เงินของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มธุรกิจในชื่อ “กฤษดามหานคร” กว่าเก้าพันล้านโดยมิชอบ ซึ่งคดีดังกล่าวมี ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากยังหลบหนีคดีทำให้ศาลฎีกาฯ ต้องออกหมายจับและสั่งพักคดีเป็นการชั่วคราว
เมื่อวันพุธที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยกรณีที่ชุดพนักงานสอบสวนสืบสวนขยายผลคดีฟอกเงิน สืบเนื่องจากคำพิพากษาคดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้แก่บริษัท กฤษดามหานครฯ ที่มีความเป็นไปได้ว่า พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจถูกเรียกให้ปากคำหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรวจพบการโอนเงินจากกฤษดาฯ ไปซื้อหุ้นว่า โดยทราบว่าเป็นการซื้อหุ้นในชื่อพนักงานบริษัท ฮาวคัม และมาสเตอร์โฟน ซึ่งทั้งสองบริษัทดังกล่าวมีนายพานทองแท้เป็นเจ้าของ
ข้อมูลที่ได้รับจากทาง ธปท.ที่ส่งมาให้ดีเอสไอเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอชุดปัจจุบันจะทำการตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่อแยกแยะในส่วนของเช็คกับตั๋วแลกเงินว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง เพื่อนำเข้าบรรจุในแฟ้มคดีเพื่อดำเนินการต่อไป “ขั้นตอนในการสอบสวนจะต้องไล่เส้นทางการเงินจำนวน 1,600 ล้านบาท ว่ามีใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีผู้กระทำผิดเพิ่มเติมจากที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้วอีกหรือไม่” ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดีเอสไอ ชี้ให้เห็นถึงเส้นทางการเงินที่เป็นจุดเริ่มต้นของคดีเมื่อปี 2546-2547 ที่ผ่านมา
แน่นอนว่าคดีดังกล่าวยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีคณะกรรมการสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียที่เกิดขึ้นแก่รัฐ หรือ คตส. จนต่อมาเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จนกระทั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพิ่งจะมีการตัดสินจำคุกผู้ที่ทำผิดที่เป็นจำเลยที่ 2 ลงไปหลายคนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ยังเหลือเพียงแค่ ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้นที่ยังหลบหนีคดีอยู่จนถึงปัจจุบัน
ที่น่าจับตาก็คือ ผลจากคำพิพากษาคดีที่ระบุว่าการกู้เงินของธนาคารกรุงไทยครั้งนี้ “มิชอบ” ก็ทำให้เกิดการแตกตัวตามมาอีกหลายคดี อย่างน้อยมีคดี “ฟอกเงิน” ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับมาพิจารณาดำเนินการต่อ โดยขอความร่วมมือจากธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน จนทำให้พบว่า เงินจำนวน 1,600 ล้านบาทหลังจากมีการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยถูกโอนไปในชื่อพนักงานจำนวนหนึ่งของ “บริษัท ฮาวคัม” ที่มี พานทองแท้ ชินวัตร เป็นเจ้าของ ซึ่ง ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษฯ บอกว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเรียกพานทองแท้มาสอบปากคำในโอกาสต่อไป
แน่นอนว่าในกระบวนการสอบสวนย่อมต้องมีการเรียกสอบปากคำตามพยานหลักฐานและตามเส้นทางการเงินตามที่มีการตรวจสอบพบเจอ และคงต้องมีอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็พอมองเห็นภาพแล้วว่าการดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวที่อยู่ในความสงสัยของชาวบ้านมานานหลายปีจะถูกนำขึ้นมาสะสางอย่างจริงจังเสียที หลังจากถูกยื้อถูกปกปิดมานานหลายปี
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะคดีที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นเพียงคดีที่มีการตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องกับเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยในส่วนของกลุ่มธุรกิจในนามกลุ่มกฤษดามหานครในส่วนที่มีการพบว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีจำนวน 1,600 ล้านบาท ยังไม่ได้ไปถึงตัว “คนสำคัญ” โดยตรง
แต่ตามรูปการณ์ที่ออกมาแบบนี้ก็คงพอเดาทางข้างหน้าได้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เมื่อมีการเอ่ยชื่อ พานทองแท้ ชินวัตร ขึ้นมาแบบนี้ ก็ต้องถือว่า “น่าหนักใจ” จนอาจเรียกได้ว่าโคม่าก็ได้ และยิ่งได้เห็นการเอาจริงเอาจังของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยุคปัจจุบันที่ไม่ใช่ยุคของธาริต เพ็งดิษฐ์ แล้วก็พอมองเห็นผลสรุปข้างหน้าได้เลย!