xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวงบลงทุน 110,100 ล้าน “ผุดท่อก๊าซ เส้นที่ 5” จาก จ.ระยอง ไปโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ / พระนครใต้”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 (Natural Gas Pipeline Network) วงเงินลงทุนรวม 110,100 ล้านบาท
ไฟเขียวงบลงทุน 110,100 ล้าน ผุด “โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5” จาก จ.ระยอง ไปยัง ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ผ่าน อ.ไทรน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา - โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ / พระนครใต้ คาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2564 มอบให้ “ปตท.” ติดตามแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ นำมาใช้ทบทวนรายละเอียดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน

วันนี้ (17 ก.ย.) มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2558 มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 ซึ่งแผนระบบรับส่งและโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคง รองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งจากภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง

โดยได้พิจารณาเห็นชอบโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 5 (Natural Gas Pipeline Network) วงเงินลงทุนรวม 110,100 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการ พร้อมติดตามแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาใช้ทบทวนรายละเอียดการดำเนินโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชน

“โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บนบกเส้นที่ 5 จาก จ.ระยอง ไปยังระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ผ่าน อ.ไทรน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา - โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ / พระนครใต้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564”

มีรายงานว่า โครงการนี้เพื่อรองรับการจัดส่งก๊าซธรรมชาติ ไปยังโรงไฟฟ้า IPP ใหม่ และโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ตามแผน PDP 2015

นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในการจ่ายก๊าซธรรมชาติของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกโดยรวม และรองรับการปรับลดความดันก๊าซธรรมชาติของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 1 และ เส้นที่ 2 ที่จะหมดอายุลง ในปี 2564 และ 2578 อีกทั้งยังเป็นการรองรับการผันก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันออกไปฝั่งตะวันตก และเพื่อความมั่นคงในการจัดส่งก๊าซธรรมชาติโดยรวมของประเทศ

ก่อนหน้านั้น ที่ประชุมเห็นชอบ แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 - 2579 (Gas Plan 2015) และหลักการการบริหารจัดการด้านการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้มีการแข่งขันและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต โดยเพิ่มจำนวนผู้จัดหาและจำหน่าย การเปิดให้บุคคลที่สามสามารถใช้ หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีแอลเอ็นจี (Third Party Access; TPA) และกำกับดูแลการจัดหา LNG ในระยะสั้น/ระยะยาว โดยมอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันศึกษาและจัดทำแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน ให้มีผู้ประกอบการในกิจการ LNG มากกว่าปัจจุบันที่มีเพียง ปตท. เพียงเจ้าเดียว และจัดทำแนวทางการกำกับดูแลด้านการจัดหา LNG

เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติให้มีเพียงพอในอนาคต ซึ่งได้บูรณาการกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2015) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) และ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) โดยวางยุทธศาสตร์การดำเนินงานใน 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อรองรับต่อความต้องการ โดยสามารถจำกัดการนำเข้า LNG ในอนาคตให้อยู่ในระดับที่พอเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

คือ 1. กระจายความเสี่ยงโดยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า 2. รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศให้ยาวนานขึ้น 3. จัดหาแหล่ง LNG ที่มีประสิทธิภาพภายใต้รูปแบบที่มีการแข่งขัน 4. มีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอ (ระบบท่อ และ LNG Terminal) และแนวทางด้านการแข่งขันทั้งทางกายภาพ (ทั้งโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และท่าเรือรับ LNG) และกติกาที่สอดรับกับแผนจัดหา (Third Party Access; TPA).


กำลังโหลดความคิดเห็น