xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” จัดให้ ลดภาษี SME เหลือ 10% หว่านสินเชื่อ 2.6 แสนล้าน - ขีดเส้นใต้รถคันแรกถึง 30 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรี ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระยะเร่งด่วน ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 10% นาน 2 รอบบัญชี และยกเว้นภาษีให้เอสเอ็มอีตั้งตัวใหม่ 5 ปี พร้อมออกสินเชื่อ 2.6 แสนล้าน อีกด้านขีดเส้นใต้รถคันแรก ต้องรับมอบรถยนต์ภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ตามโมเดลในใบจองเท่านั้น

วันนี้ (8 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในระยะเร่งด่วน แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้เอสเอ็มอีด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 10% สำหรับเอสเอ็มอีที่มีกำไรตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป เป็นเวลา 2 รอบบัญชี และยกเว้นภาษีให้เอสเอ็มอีกลุ่มที่เริ่มกิจกรรมใหม่ เป็นเวลา 5 ปี คาดว่า รัฐจะสูญเสียรายได้ราว 5,000 ล้านบาท พร้อมกับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีอีก 3 โครงการ วงเงินรวม 260,000 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เอสเอ็มอีทั้งระบบ โดยจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะกลับไปจัดทำมาตรการมาเสนออีกครั้ง

ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนี้แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ มาตรการทางการเงิน มี 3 มาตรการย่อย ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้กับเอสเอ็มอี วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินจะเป็นผู้ปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน ดอกเบี้ย 0.1% และให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี ดอกเบี้ยไม่เกินปีละ 4% ระยะเวลา 7 ปี โดยให้เสนอคำขอรับสินเชื่อได้ถึง 31 ธ.ค. 58 ส่วนวงเงินชดเชยดอกเบี้ย รัฐจะชดเชยให้วงเงินรวม 20,020 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 4 ปีแรก รัฐจะชดเชยให้ปีละ 2,860 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการค้ำประกันสินเชื่อโครงการพีจีเอส ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จากวงเงินเดิม 80,000 ล้านบาท เป็น 100,000 ล้านบาท พร้อมปรับปรุงเงื่อนไขการรับประกันความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ จากเดิมต้องรับภาระจ่ายชดเชยสัดส่วน 30% ของวงเงินกู้ เปลี่ยนเป็น 15% แรก บสย. จะรับประกันความเสี่ยงให้เพิ่มเติม ส่วนที่เหลืออีก 15% บสย. จะแบ่งกับธนาคารพาณิชย์ฝ่ายละ 7.5% เพื่อช่วยจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีมากขึ้น โดยรัฐจะชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันตลอดอายุโครงการ รวม 10,250 ล้านบาท โดยช่วง 4 ปีแรก ชดเชยให้ 4,000 ล้านบาท รวม 14,250 ล้านบาท โดยสิ้นสุดระยะเวลาขอค้ำถึง 30 มิ.ย. 59

นอกจากนั้น ให้ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ตั้งกองทุนร่วมลงทุน วงเงินรวม 6,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเอสเอ็มอีที่มีฐานเงินทุนไม่เพียงพอ ให้สามารถกู้เงินกับสถาบันการเงินได้

ด้าน พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการรับมอบรถยนต์ตามโครงการรถยนต์คันแรก ตามที่กระทรวงการคลัง นำเสนอว่า ที่ประชุมได้อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยกำหนดให้ผู้ขอใช้สิทธิตามโครงการจะต้องรับมอบรถยนต์ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2558 และจะต้องเป็นรถยนต์ตามโมเดลในใบจองเท่านั้น พร้อมให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมภายใน 90 วัน นับถัดจากวันรับมอบรถยนต์ตามที่กำหนดไว้ในมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 โดยหากรับมอบรถยนต์ภายหลังวันที่ 30 ก.ย. ให้ถือว่าไม่ได้รับสิทธิตามโครงการนี้ และจะไม่สามารถเรียกร้องสิทธิและค่าเสียหายใด ๆ กับทางราชการได้

ทั้งนี้ มติ ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2554 ได้อนุมัติหลักการและแนวทางการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์ตามโครงการตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 - 31 ธ.ค. 2555 แต่ช่วงปลายปี 2554 ได้เกิดเหตุอุทกภัย เป็นเหตุให้ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ทันตามวันที่สิ้นสุดโครงการ และจากผลการดำเนินงานมีผู้อยู่ในสถานะขอใช้สิทธิ จำนวน 1,234,773 ราย เป็นเงิน 91,125 ล้านบาท ปัจจุบันยังยังมีผู้ไม่ได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติม จำนวน 111,481 ราย ซึ่งทางกรมสรรพสามิตได้ส่งแบบสอบถามไปยังกลุ่มดังกล่าว และมีผู้ตอบแบบสอบถามกลับมา จำนวน 10,289ราย โดยไม่ประสงค์จะขอใช้สิทธิมีจำนวนถึง 7,620 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น