ผ่าประเด็นร้อน
มองในมุมความเหนื่อยยากก็ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เชื่อว่าต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำแบบไม่ได้หลับได้นอนจริง ๆ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับรอง ๆ ลงมาที่ต้องเร่งมือเพื่อสืบสวนติดตามจับกุมคนร้ายที่ลงมือลอบวางระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อตอนค่ำวันที่ 17 สิงหาคม และวันที่ 18 สิงหาคม ที่สะพานสาทร เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้กลับมาโดยเร็ว
แต่ขณะเดียวกัน อีกมุมหนึ่งก็ต้องมองว่า นี่คือ ภาระความรับผิดชอบที่ต้องแบกไว้อย่างเต็มเปี่ยมที่ชาวบ้านฝากความหวังเอาไว้ ว่า เมื่อเกิดเหตุร้ายก็ต้องพึ่งพาตำรวจ และยิ่งคราวนี้เป็น “คดีพิเศษ” ที่เกี่ยวพันกับความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวพันกับ “เครดิต” และศักดิ์ศรีของชาติที่ต้องพิสูจน์ต่อหน้าของนานาชาติที่เฝ้ามองอยู่กันแบบไม่กะพริบ ชนิดที่เรียกว่า “จับตากันทุกฝีก้าว” บางครั้งก็ทำให้เกิดอาการกดดัน จนเกิดความเครียด บางครั้งทำให้ต้องมีอาการหรืออารมณ์ที่แสดงการตอบโต้กลับมาแบบแปลก ๆ เหมือนกัน
เหมือนกับอารมณ์ความรู้สึกขณะนี้ของ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่เริ่มมีอารมณ์หงุดหงิดพลุ่งพล่านเมื่อถูกถามถึงความคืบหน้าในการหาหลักฐาน หรือการจับกุมคนร้าย หลังจากเวลาผ่านไปนานกว่าสัปดาห์แล้ว แต่ก็ยังไม่มีวี่แวว หรือพบเบาะแสที่ชี้ให้เห็นแนวทางการสืบสวนที่สามารถโฟกัสให้แคบเข้ามาว่าแรงจูงใจของคนร้ายในการลงมือนั้นมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ เป็นการเมืองภายใน หรือว่าเป็นการลงมือของกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาเคยพูดแบบให้เข้าใจทำนองว่า “เหลื่อม” มาทางแบบแรกมากกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ยังย้ำว่าไม่ได้ทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไป
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลายิ่งผ่านไปนานเท่าใด หากยังไม่อาจฟันธงในเบื้องต้นได้ว่ามาจากเรื่องใด ความหมายก็จะออกมาในทาง “เปะปะ” เสียมากกว่าความหมายที่ส่อออกมาในทางรอบคอบรัดกุม เพราะเวลานี้ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่จับตามอง ยังมีรัฐบาลต่างชาติที่นอกเหนือจากประเทศที่มีคนของตัวเองเสียชีวิตและบาดเจ็บเท่านั้น ยังรวมถึงรัฐบาลของมหาอำนาจ และสื่อต่างชาติที่คอยตรวจสอบการทำงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสื่อต่างชาติที่มักนำเสนอข้อมูลใหม่ ๆ ซึ่งมีทั้งประเภท “ล้ำหน้า” จนบางครั้งเป็นการ “ดิตเครดิต” ตำรวจไทยก็มี
ดังนั้น การที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอารมณ์หงุดหงิดในบางครั้งเมื่อถูกจี้ถามถึงความคืบหน้าในแบบที่ไม่คืบหน้าบางครั้งก็น่าเห็นใจ แต่การกล่าวในทำนองว่าเป็นเพราะอุปกรณ์ที่มีอยู่ไม่ทันสมัย หรือชำรุดจนทำให้เป็นอุปสรรคในการล่าตัวคนร้ายนั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เน้นย้ำออกมา และที่สำคัญจะกลายเป็นลบ มีผลกระทบต่อคยามเชื่อมั่นที่ชาวบ้านมีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“เคยดูหนังซีเอสไอไหม คล้ายอย่างนั้น แต่เราไม่มีเครื่องมือเลย ทุกวันนี้ตำรวจไทยทำงานด้วยความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญ ประสบการณ์ จินตนาการ ครีเอตสถานการณ์สร้างเรื่องสร้างสตอรีขึ้นมา มันน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ยกตัวอย่างทุกวันนี้เราติดตามคนร้ายจากกล้องซีซีทีมี ระหว่างทางมี 20 ตัว แต่เสียไป 15 ตัว ใช้ได้ 5 ตัว ก็กระโดดไปกระโดดมา มีส่วนที่หายไป ตำรวจมานั่งจินตนาการว่าตรงนั้นคืออะไร ต้องเสียเวลาสร้างจินตนาการ ตรวจสอบสิ่งที่ไม่ใช่ แต่ถ้ามีเครื่องมือที่ว่าจะสามารถบอกได้เลยว่าคนร้ายไปโผล่จุดไหนบ้าง เช่น เห็นที่ราชประสงค์ ไปโผล่สีลม แต่กล้องเสียทั้งหมด บังเอิญกล้องดุสิตธานีใช้ได้ ไปโผล่หัวลำโพง โดยเราต้องใช้ทั้งซีซีทีวี พยานและหลายอย่างประกอบเพื่อให้น้ำหนักของพยานหลักฐาน ซีซีทีวีไม่ใช่คำตอบสุดท้าย”
“จะบอกว่าผู้ต้องหาอยู่ในประเทศหรือไม่ว่าพูดไปก็เหมือนผมเดา ก็ข่าวออก โซเชียลมีเดียออกเสียขนาดนี้ เป็นคุณจะอยู่ไหม เวลาผมพูดอะไรผมมีเหตุผล จะตอบว่าผมไม่รู้ก็หาว่าตำรวจไม่รู้อะไรเลย ผมก็ต้องว่าคิดว่าคาดว่ายังอยู่ในประเทศ ถ้าผมบอกว่าออกไปต่างประเทศแล้ว มันต้องมีเหตุผลว่ามีข้อมูลว่าคนร้ายออกทางสุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง ไปต่างประเทศแล้ววันนั้นผมถึงจะบอกว่าเขาเดินทางออกไปแล้ว แต่วันนี้ที่ผมพูดว่ายังอยู่ในประเทศ เพราะผมไม่มีอะไรไปยืนยันว่าเขาออกไปแล้ว ถามกลับว่าข่าวออกซะขนาดนี้ เป็นผมแหกตูดไปแล้ว เป็นคุณจะอยู่ไหมล่ะ เขาก็มีมันสมอง เขาไม่โง่หรอก ผมยังไม่พูดว่าออกไปแล้ว ผมตอบไม่ได้ว่ายังอยู่ในประเทศหรือออกไปแล้ว ผมไม่เคยฟันธง ไม่เคยตัดประเด็นใดทิ้ง ไม่เคยบอกว่าเป็นเรื่องการเมือง ความขัดแย้งส่วนตัว ขัดแย้งธุรกิจ ทุกเรื่องเป็นไปได้ อาจเป็นการเมืองขัดแย้งไม่ชอบหน้า ไม่ชอบคนชาตินั้นชาตินี้ เป็นเรื่องความเชื่อ ศาสนาก็ได้ เป็นไปได้ทุกเรื่อง”
คำพูดแบบนี้ของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มองในมุมน่าเห็นใจเพราะตำรวจมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือจำกัดทำให้ประสิทธิภาพในการติดตาม หาหลักฐานคนร้ายล่าช้า แต่นั่นคงไม่ใช่ข้ออ้างหากจับกุมคนร้ายไม่ได้ เพราะอุปกรณ์ที่ว่าคงไม่อาจบั่นทอนขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย และยังเชื่อว่าในคดีนี้ทางระดับผู้บังคับบัญชาก็ต้องระดมมือดีที่สุดของทุกหน่วยงานเข้ามาทำงาน รวมไปถึงการบูรณาการกับฝ่ายกองทัพ ดังนั้น งานนี้ถ้าคลี่คลายคดีหรือสามารถจับคนร้ายและขยายผลออกไปได้แบบไม่ผิดตัว คนที่ได้รับเสียงชื่นชมและได้เครดิตย่อมต้องไม่ใช่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพียงคนเดียวแน่
เพราะอย่างที่บอกก็คือ"ทีมใหญ่"ที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่บูรณาการร่วมกับฝ่ายตำรวจ และมอบหมายให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ควบคุมคดี ดังนั้นงานนี้ถ้าจะรับชอบก็ต้องรับกันเป็นทีม แต่ถ้าผลออกมาในทางตรงกันข้ามก็ต้องรับ “ก้อนอิฐ” กันทั้งพวงเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเมื่อพิจารณาจากอาการและการตอบคำถามของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง แล้วทำให้สังคมเริ่มจับทางได้เร็วเหมือนกันว่าแนวโน้มน่าจะออกมาแบบ “ล้มเหลว” มากกว่าสำเร็จ
ก็ได้แต่หวังว่าสังคม และสื่อหลายแห่งคาดเดาผิด !!