ผู้บัญชาการทหารเรือทำพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืน เรือหลวงแหลมสิงห์ พร้อมชื่นชมที่ต่อเรือสำเร็จ ทดแทนของเดิมที่ปลดประจำการ ดูผลการปฏิบัติงานก่อนต่อเรือเพิ่ม ยอมรับมีความสามารถแต่ติดปัญหาเทคโนโลยีและงบประมาณ เผยการเลือก ผบ.ทร.คัดที่ดีที่สุดใน 5 เสือ ไม่เอนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง ย้ำผลักดันเรือดำน้ำตอบโจทย์ที่สุด ขึ้นอยู่กับจะสานต่อหรือไม่ เป็นเรื่องโชคชะตา ส่วนกรณีอดีตนายทหารกับพลทหารรับจ้างรอผลสอบ
วันนี้ (25 ส.ค.) ที่กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืน (เรือหลวงแหลมสิงห์) ลำใหม่ของกองทัพเรือลงน้ำ โดยมีนางณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์ ภริยาผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ
รายงานข่าวแจ้งว่า เรือตรวจการณ์ปืน (เรือหลวงแหลมสิงห์) มีความยาว 58 เมตร กว้าง 9.30 เมตร ลึก 5.10 เมตร กินน้ำบึกตัวเรือสูงสุด 2.50 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 520 ตัน โดยความเร็วสูงสุดที่ระวางขับน้ำสูงสุด 23 นอต มีระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 2,500 ไมล์ทะเล และมีความคงทนทะเลจนถึงสภาวะทะเลระดับ 4 (Sea State 4) สถานที่เก็บเสบียงอาหารและระบบน้ำจืดเพียงพอในการปฏิบัติการทางทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง บรรจุกำลังพลได้ 53 นาย ส่วนอาวุธประจำเรือประกอบด้วย ปืนขนาด 76/62 มม.อัตโนมัติ จำนวน 1 ระบบ ปืนกลขนาด 30 มม.จำนวน 1 ระบบ ปืนกลขนาด .05 นิ้ว จำนวน 2 ระบบ
เรือตรวจการณ์ปืน (เรือหลวงแหลมสิงห์) ของกองทัพเรือลำนี้ มีขีดความสามารถในการปฎิบัติภารกิจตรวจการณ์ ลาดตระเวณ ป้องกันการแทรกซึมในทะเล คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ตลอดจนการป้องกันคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย สนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่างๆ พร้อมทั้งถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม เรือตรวจการณ์ปืนนี้ได้ออกแบบมาให้มีพื้นที่ดาดฟ้าท้ายเรือกว้างขวาง เพื่อความพร้อมในการติดตั้งอุปกรณ์หรือยุทโธปกรณ์เสริมอื่นได้อีกในอนาคต
พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า ชื่นชมกรมอู่ทหารเรือที่ได้ต่อเรือตรวจการณ์ปืนสำเร็จตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือในการพึ่งพาตัวเอง เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ปืนที่ปลดประจำการ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและการปฏิบัติการทางทะเล คุ้มครองเรือประมง เรือพาณิชย์ ตลอดจนทรัพยากรในอ่าวไทยและอันดามันในการต่อเรือใช้เองของกองทัพเรือ ทั้งนี้ หลังต่อเสร็จต้องทดลองใช้ว่ามีประสิทธิภาพอย่างไร ตอบโจทย์ความต้องการของกองทัพเรือหรือไม่ เพราะที่เราคิดไว้ต้องมีปืนประจำเรือที่ทันสมัยและสามารถปฏิบัติการในสภาวะทางทะเลในระดับ 4 และ 5 ได้ (State 4-5) ในการคุ้มครองเรือตรวจการณ์ลาดตระเวนในอ่าวไทยและอันดามัน ตลอดจนถึงผลประโยชน์ทางทะเลทั้งหมด ส่วนการต่อเรือเพิ่มเติมนั้นต้องดูผลการปฏิบัติงานของเรือชุดนี้ก่อนว่าประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เพราะการสร้างครั้งเดียวจำนวนหลายลำเราจะไม่ทราบว่าสามารถตอบโจทย์ตามความต้องการของเราหรือไม่ เราต้องทดลองใช้ในภารกิจต่างๆ ถ้าดีก็ต่อลำใหม่ขึ้นมาใช้งานอีก กรมอู่ทหารเรือมีบุคลากรที่มีความสามารถในการต่อเรือ แต่ติดปัญหาที่เทคโนโลยีที่เราผลิตเองไม่ได้ต้องสั่งซื้อ ตลอดจนเรื่องงบประมาณ
พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวถึงกรณีที่บัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 ในส่วนของกองทัพเรือว่า ทางกองทัพเรือจัดทำและดำเนินการเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาบุคคล ก็คือจะคัดเอาคนดีที่สุดที่อยู่ใน 5 เสือกองทัพเรือ เนื่องจากเป็นตำแหน่งหลักอยู่แล้ว ในเมื่อขึ้นมาถึงจุดนี้ได้แสดงว่าต้องมีศักยภาพ และคนดีทุกคนขึ้นมาถึงจุดนี้ ตนก็เสนอให้ รมว.กลาโหมพิจารณาก็เท่านั้น ในขณะเดียวกัน บุคคลที่จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทร.คนต่อไปก็ต้องมาสานต่อนโยบายตน แต่เอาเข้าจริงๆ นโยบายเป็นหลักปฏิบัติที่ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลงอะไรนัก อาจจะมีนโยบายบางจุด เฉพาะด้านออกมา ตนคิดว่าถ้าใครขึ้นมาเป็น ผบ.ทร.ก็สามารถบริหารกิจการกองทัพเรือได้
สำหรับแคนดิเดต ผบ.ทร.คนถัดไปจะสร้างความเชื่อมั่นได้หรือไม่ พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า การแต่งตั้งทุกเหล่าคัดคนที่ดีที่สุดขึ้นมาบริหาร จะไม่ได้ตั้งเพียงคนเดียว แต่จะแต่งตั้งกันทั้งระบบ โดยจะคัดคนดีแต่ละรุ่นเฉลี่ยกันขึ้นไป เพื่อรองรับฐานในการเป็นผู้บริหารในอนาคต คงจะไม่เอนไปรุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่ทุกชั้นยศจะมีการเฉลี่ยกันไป ซึ่งในรุ่นหนึ่งจะมีคนดีประมาณ 15% ที่เป็นคนเก่งของรุ่น เราก็ต้องสร้างเขาขึ้นมา เพราะฉะนั้นที่ตนกล่าวไปเป็นหลักการในการบริหารกำลังพลอยู่แล้ว คิดว่าทุกคนก็ใช้เหมือนกัน ไม่ใช่เอาแค่รุ่นเดียวแล้วให้ขึ้นมากันทั้งหมด ถ้าทำแบบนั้นจะทำให้รุ่นต่อไปหายกันถึง 1-2 รุ่น ดังนั้นต้องเฉลี่ยรุ่นอื่นๆ ขึ้นมาด้วยกัน
เมื่อถามว่า ผบ.ทร.คนต่อไปจำเป็นต้องผลักดันเรือดำน้ำหรือไม่ พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะโครงการดังกล่าวกำลังเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอยู่ว่าจะอนุมัติหรือไม่ ถ้าไม่อนุมัติก็ต้องยกเลิก หรืออาจจะผลักดันต่อในปีงบประมาณถัดไป ทั้งนี้ ตนย้ำว่าเราเสนอสิ่งที่ดีที่สุดตามกรอบงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งงบประมาณ 36,000 ล้านบาทถือว่าดีที่สุด และตอบโจทย์ที่สุดแล้ว
เมื่อถามว่า รู้สึกเสียใจหรือไม่ที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล ในช่วงที่เป็น ผบ.ทร. พล.ร.อ.ไกรสรกล่าวว่า “ไม่หรอกครับ ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมีกรอบ เราต้องทำตามหน้าที่ โดยความจำเป็นด้านงบประมานถือเป็นเรื่องของรัฐบาลจะต้องพิจารณา ทุกคนก็เสมือนกับเครื่องจักรฟันเฟื่องขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่มีอะไรพร้อมไปทุกอย่าง ถ้าจังหวะได้ และงบประมาณได้มันก็ได้ ถ้าไม่ก็ถือเป็นเรื่องของโชคชะตา”
เมื่อถามว่า ถ้าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำไม่ได้ในปีงบประมาณ 2558 จะไม่ทันในการดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติ ผบ.ทร.กล่าวว่า ก็มีส่วน การต่อเรือวันนี้ไม่ได้ในวันสองวัน แต่ความจริงจะได้ประมาณ 5-6 ปี ในทำนองเดียวกันกำลังพลต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ต่างๆ ภายในเรือดำน้ำ
ผู้บัญชาการทหารเรือยังกล่าวถึงความคืบหน้าสอบสวนกรณีนายทหารเรือนอกราชการ กับพลทหารรับจ้างว่า กำลังสอบสวนอยู่ ตนได้สั่งการไปยังกรมยุทธศึกษาทหารเรือสอบสวนและดำเนินการอยู่ว่าเรื่องเป็นมาอย่างไร ถ้าได้ข้อสรุปต้องชี้แจงขึ้นมา เพราะว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำกันถึงขนาดนี้ ก็ต้องรอผลสอบและต้องว่าไปตามกระบวนการกฎหมายต่อไป สำหรับหลักเกณฑ์การขอพลทหารไปช่วยงานนั้น ตนคิดว่าไม่มีหลักเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น และไม่เข้าใจว่าเอาพลทหารไปใช้ได้อย่างไร ต้องรอผลสอบสวนก่อน