xs
xsm
sm
md
lg

บทเฉพาะกาลคง “อำนาจพิเศษ” คาดร่าง รธน.ผ่าน “สปช.” สบาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำพิธีมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา
แม้จะเริ่มมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วนเริ่มขยับนัดถก - ชำแหละร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ได้เผยแพร่และส่งมอบให้ สปช. ไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา

แต่เสียง “หนุน - ค้าน” ร่าง รธน. ที่ปรากฏออกมา ถึงตอนนี้ในช่วงเหลือเวลาอีกไม่ถึงสองสัปดาห์จะถึงวันโหวตรับ - ไม่รับร่าง รธน. ของ สปช. ในวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย. สปช. ยังประเมินว่า ร่าง รธน. น่าจะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช. ไปได้ แบบไม่น่ามีอะไรพลิกผัน

ถึงจะมี สปช. บางส่วนที่ไม่ใช่พวกหน้าเดิมก่อนหน้านี้อย่าง วันชัย สอนศิริ - ดิเรก ถึงฝั่ง - สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ - เสรี สุวรรณภานนท์ เริ่มเปิดตัวแสดงท่าทีออกมาบ้างแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน. ดังกล่าวในบางประเด็น แต่เสียงต้านดังกล่าวยังไม่ขยายวงมากนัก ทำให้กระแสใน สปช. ยังมั่นใจว่า ยังไงร่าง รธน. ก็น่าจะผ่าน สปช. ไปได้

ร่าง รธน. จะผ่านหรือไม่ผ่าน ความชัดเจนตรงนี้ จะชัดมากขึ้นในช่วงไม่เกินวันที่ 3 - 4 ก.ย. ที่ถึงตอนนั้น ทุกอย่างน่าจะนิ่งแล้ว ยากที่กระแสจะตีกลับได้ หากทิศทางมันชัด เผลอ ๆ ปลายสัปดาห์นี้ ก็น่าจะพอฟันธงแบบร้อยเปอร์เซนต์ได้แล้วว่า ผ่าน - ไม่ผ่าน

ทั้งนี้ เมื่อ กมธ. ยกร่าง รธน. ส่งร่าง รธน. ให้ สปช. แล้ว ทาง สปช. ไม่สามารถเปิดประชุมเพื่ออภิปรายถกเถียงเรื่องร่าง รธน.อย่างเป็นทางการกันได้อีก ต้องรอโหวตอย่างเดียว

วันที่ 6 ก.ย. ชี้ขาดสถานเดียว


แม้ว่า สปช. อาจมีข้อข้องใจ เช่น ทำไม กมธ. ยกร่าง รธน. เขียน รธน. ออกมาแบบนี้ อยากรู้เหตุผล ก็ไม่สามารถซักถามอย่างเป็นทางการในที่ประชุมได้ ต้องไปถามกันนอกรอบเป็นการส่วนตัวเอง ทำได้อย่างมากก็คือจัดเสวนาวงเล็ก ๆ แลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นกันอย่างไม่เป็นทางการที่รัฐสภาหรือสถานที่ต่าง ๆ แล้วจะให้ กมธ. ยกร่าง รธน. ไปอธิบาย พูดคุยด้วย แบบนี้ทำได้

ส่วนการจัดปิดห้องพูดคุยกันดังกล่าว ที่คาดว่าจะมีหลายวง ที่ทำแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผย จะเปิดช่องให้มีการล็อบบีพวก สปช. ให้โหวตเสียงไปในทางหนึ่งทางใดหรือไม่ เชื่อได้ว่า คงไม่มีผล เพราะการออกเสียงของ สปช. ส่วนใหญ่ว่าจะโหวตรับ - ไม่รับ ว่ากันตามเนื้อผ้า มันเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนจะเห็นร่างทั้งฉบับเมื่อ 22 ส.ค. แล้ว

อย่างไรก็ตาม การล็อบบี้อะไรต่าง ๆ จึงไม่น่าจะมีผลและคงไม่มีใครคิดทำเพราะหากโดนแฉขึ้นมา จบเห่

จากร่าง รธน. ทั้งฉบับ 285 มาตรา “ทีมข่าวการเมือง” มุ่งเจาะไปที่ สาระสำคัญในร่าง รธน. ที่อยู่ใน “บทเฉพาะกาล” ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าถือเป็น “หมวดสำคัญ” ของร่าง รธน. หมวดหนึ่ง เหตุเพราะบทบัญญัติต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร่าง รธน. การจะให้มีผลบังคับใช้หรือยังไม่ให้มีผลบังคับใช้แม้ต่อให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว หรือจะให้มีผลบังคับใช้เมื่อใด ตลอดจนมีข้อยกเว้นอะไรบ้าง หลังร่าง รธน.ประกาศใช้ มันอยู่ที่การเขียนล็อกไว้ใน “บทเฉพาะกาล” เป็นสำคัญ

อย่างบทเฉพาะกาลของร่าง รธน. ฉบับนี้ ก็มีหลายเรื่องสำคัญ ชวนให้วิเคราะห์และพูดถึงกันทางการเมือง

เช่น มาตราสุดท้าย 285 ก็เป็นเรื่องปกติของ รธน.ที่เกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหาร ก็จะต้องเป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการ “นิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร - คสช.” รวมถึงผลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารต่าง ๆ เช่น คำสั่ง คสช. ไม่ให้มีการเอาผิดย้อนหลังได้ ซึ่งร่าง รธน.ฉบับนี้ให้การรับรองไว้ว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งหากจะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงประกาศ คสช. ดังกล่าวต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ

อีกประเด็นสำคัญก็คือในมาตรา 277 ที่เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่อง “ที่มา ส.ว. สรรหา” ซึ่งบทเฉพาะกาลดังกล่าว ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินในช่วงก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา 123 คน โดยมีข้อแม้ว่า การได้มาซึ่ง ส.ว. สรรหา 123 คนดังกล่าว ให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 118 ที่เป็นเรื่องการสรรหา ส.ว. ที่ต้องกระจายไปยังกลุ่มต่าง ๆ ให้มากที่สุด

สรุปก็คือบทเฉพาะกาลให้อำนาจ ครม. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้ง ส.ว. 123 คน ไปยึดกุมเสียงสภาสูงนั่นเอง เพียงแต่ทำให้ดูไม่น่าเกลียด ก็ให้มีกรรมการสรรหามาเหมือนกับคอยกลั่นกรอง แต่ถึงเวลาจริง ๆ ครม.- คสช. ก็เอาโผ ส.ว. 123 คน ไปให้กรรมการสรรหาประทับตรารับรองนั่นเอง เชื่อได้ว่า ครม. ก็คงตั้งพวกเดียวกันเอง อาทิ รองนายกฯ หรือ รัฐมนตรี สัก 1 - 2 คน รวมถึงพวกเครือข่าย คสช. ไปนั่งเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. อยู่แล้ว

แม้บทเฉพาะกาลจะบอกว่า ให้การสรรหาเลือก ส.ว. 123 คนชุดแรกหลัง รธน. บังคับใช้ อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 3 ปี จะเขียนว่าเลือกให้หลากหลาย เช่น กลุ่มอดีตปลัดกระทรวง อดีตผู้นำเหล่าทัพ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพ ตัวแทนด้านเกษตรกรรม แรงงาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และอื่นๆ แต่ถึงเวลาจริง ๆ รายชื่อ ส.ว. 123 คน ก็จะเป็นพวกคนของ คสช. เป็นส่วนใหญ่ อาจแต่งหน้าเค้กเอาผู้ทรงคุณวุฒิบางด้านที่มีชื่อเสียงมาปน ๆ กันไว้บ้างเพื่อให้รายชื่อออกมาดูดี แต่สุดท้าย ส.ว. 123 คน ก็คือ เครือข่าย คสช. ในสภาสูง นั่นเอง

แม้จะเป็นแค่ช่วง 3 ปี แต่ก็เป็น 3 ปี ที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจ คสช. ไปสู่รัฐบาลหลังเลือกตั้ง ทำให้ คสช. ยังมีอำนาจอยู่ในระบบรัฐสภาผ่าน ส.ว. 123 คน ต่อไป

แม้ยังมีอีกหลายประเด็นในบทเฉพาะกาลที่น่าสนใจแต่ที่น่าสนใจมากสุด คงไม่พ้น มาตรา 280 ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักก่อนหน้านี้ ว่า เป็นการ “ต่อท่ออำนาจให้ คสช.” บ้างก็บอกไปว่า คือ การสร้างให้เกิด “คสช. ภาคสอง” นั่นก็คือ การให้ “อำนาจพิเศษ” กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง 23 คน ที่แม้จะมีกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี แต่ก็มีพวก ฝ่ายความมั่นคงอยู่ในกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ครบครัน อาทิ ผบ.ทบ.- ผบ.สส.- ผบ.ทอ.- ผบ.ทร.- ผบ.ตร. ตลอดจนกรรมการจากกลุ่มอื่น ๆ ที่จะเข้ามาตาม รธน.แต่ก็ เปิดช่องให้ล็อกชื่อคนบางคนเข้ามาได้

เป็นที่ชัดเจนว่า กมธ. ยกร่าง รธน. ยังคงอำนาจพิเศษให้กรรมการยุทธศาสตร์ต่อไปแม้ก่อนหน้านี้จะมีเสียงคัดค้านมากมาย แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะในบทเฉพาะกาล ยังคงระบุอำนาจพิเศษไว้ดังนี้


“ภายในห้าปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาเอกราชของชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปราม การกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของชาติ เศรษฐกิจของประเทศหรือกรณี เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นภายในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกราชอาณาจักร ทั้งการดำเนินการตามปกติของสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรี ไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติกรณีดังกล่าวได้

“คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการที่มีทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็น สำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว”


และอีกวรรคที่สำคัญ คือ การให้การคุ้มครองทางกฎหมายกับการใช้อำนาจพิเศษของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ระบุว่าไม่ให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีใด ๆ กับกรรมการยุทธศาสตร์ได้ไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

“ให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด”

วรรคดังกล่าวในมาตรา 280 ทำให้เป็นห่วงว่า หากกรรมการใช้อำนาจหรือตัดสินใจใด ๆ ผิดพลาดขึ้นมา จะหาคนรับผิดชอบไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ร่างทั้งหมดถือว่าเสร็จสิ้นหมดแล้ว ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก หากไม่ต้องการหรือเห็นว่าร่าง รธน.มาตราไหน มีข้อเสียหรือเป็นอันตรายต่อส่วนรวมหากให้มีการบังคับใช้ รธน. ก็ไม่สามารถแก้ไขถ้อยคำอะไรได้อีกแล้ว

มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องทำให้ร่าง รธน. ไม่ผ่าน สปช. แต่เมื่อกระแสทิศทางดูแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่จะผ่าน สปช. จึงต้องไปลุ้นขั้นตอนต่อไปหากต้องการให้ร่าง รธน. แท้ง นั่นก็คือ ประชาชนต้องลงประชามติคว่ำร่าง รธน. ในเดือนมกราคม 59

ประชาชนจะเอาด้วยไหม โดยเฉพาะฝ่ายเพื่อไทย - คนเสื้อแดง หากจะรณรงค์ให้คว่ำร่าง รธน. ในช่วงประชามติ เพราะสิ่งที่จะตามมาคือการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอย่างน้อยก็ 8 เดือนจากโรดแมปเดิมที่วางไว้ หากร่าง รธน. ไม่ผ่านประชามติ นี้คือข้อสงสัย ?

กำลังโหลดความคิดเห็น