xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเพิ่มงบเวชภัณฑ์-น้ำดื่มช่วยพม่าอีก 4 ล้าน - ขอคำตอบค่าเสียหายเกษตรจากภัยแล้งก่อนสิ้น ส.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ สั่งเตรียมชุดสาธารณสุขและทีมซ่อมแซมอาคารประสานให้ความช่วยเหลือพม่า ให้ “ม.ล.ปนัดดา” เจ้าภาพตั้งศูนย์รับความช่วยเหลือคนไทย เพิ่มงบช่วยอีก 4 ล้านในรูปแบบเวชภัณฑ์-น้ำดื่ม ระบุชาวหม่องในสยามส่งของช่วยมามาก พร้อมสั่งขอคำตอบความเสียหายทางการเกษตรจากภัยแล้งก่อนสิ้นเดือนนี้ เร่งช่วยชาวนาร่วมมือรัฐก่อน ย้ำยังต้องประหยัดน้ำ

วันนี้ (11 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.50 น. พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้จัดเตรียมชุดแพทย์และพยาบาลเพื่อไปช่วยฟื้นฟูสุขภาพอนามัย รวมถึงการที่จะเข้าไปช่วยเหลือบูรณะซ่อมแซมที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบประสานความร่วมมือ ให้กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบการปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นคนหรือรถ และอื่นๆ ส่วนสำนักนายกฯ โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดประจำสำนักนายกฯ เป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์รับความช่วยเหลือจากคนไทย นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้พูดถึงการเพิ่มงบประมาณให้ความช่วยเหลืออีก 4 ล้านบาท อาจจะเป็นในรูปแบบเวชภัณฑ์ ยา เครื่องทำน้ำดื่ม เครื่องกรองน้ำ ความจำเป็นพื้นฐานที่จะสนับสนุน ขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยได้เล่าสถานการณ์น้ำเริ่มลดลงและสิ่งของความจำเป็นที่ต้องการให้ทางไทยช่วยเหลือ เช่น อาหารแห้ง เต็นท์ผ้าใบ เวชภัณฑ์ ยา และขณะนี้ชาวพม่าที่อยู่ในไทยได้บริจาคสิ่งของเป็นจำนวนมาก ซึ่งไทยจะช่วยสนับสนุนในการขนส่งสิ่งของด้วย

ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า นายกฯ ได้สอบถามถึงการสำรวจความเสียหายของเกษตรกร และขอคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุม ครม.รอบสุดท้ายก่อนสิ้นเดือน ส.ค.เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลได้ขอให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าว และมีเกษตรกรทำตามร้องขอคำแนะนำรัฐบาล ดังนั้น ส่วนนี้จะถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ 1 ที่จะให้ความเหลือ ส่วนความจำเป็นที่ 2 คือ กรณีที่เกษตรกรพยายามจะปลูกข้าวรอบแรกโดยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลจนทำให้บางส่วนเสียหาย บางส่วนรอดก็จะให้ความช่วยเหลือเช่นกัน ส่วนจะช่วยมากน้อยแค่ไหนให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสานงานกันเพื่อหาคำตอบที่ชัดเจน เช่น อาจสนับสนุนปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์พืชที่จะนำไปปลูกทดแทนข้าวตามการจัดโซนนิ่ง ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความมั่นใจว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับฤดูแล้งหน้า แต่ยังต้องมีมาตรการประหยัดน้ำกันอยู่ เพราะยังไม่สามารถวิเคราะห์ว่าฤดูฝนนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่


กำลังโหลดความคิดเห็น