“ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม. เปลี่ยนใช้รถตู่กันกระสุน ฮภ 2924 เข้าทำเนียบ ปัดตอบออกหมายจับง “พล.ท.มนัส คงแป้น” บิ๊กกองทัพบกเอี่ยวค้ามนุษย์โรฮีนจา “ปนัดดา” เผยยังไม่พิจารณาเงินเยียวยาผู้ชุมนุมใน ครม.วันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามปกติ โดยในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปลี่ยนรถจากรถเบนซ์ส่วนตัว ทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานคร ที่ใช้เป็นประจำตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาเป็นรถตู้โฟล์คสีดำกันกระสุน ทะเบียน ฮภ 2924 กรุงเทพมหานคร รถของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเป็นรถที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้ระหว่างดำรงตำแหน่ง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเพียงสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวระหว่างเดินเข้าเป็นประธานการประชุม ครม. ถึงคำถามที่ว่าได้รับทราบเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์แล้วใช่หรือไม่ว่า “ยังไม่เห็น”
ขณะที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ระหว่างปี 2547-2553 และระหว่างปี 2556-2557 เปิดเผยว่า การประชุม ครม.วันที่ 2 มิ.ย.ยังไม่มีการนำมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ที่กำหนดให้จ่ายเงินเยียวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงปี 2556-2557 ก่อน และกำหนดผู้เสียชีวิตเงินเยียวยา 4 แสนบาทเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ครม.นอกจากจะมีการรายงานสถานการณ์บ้านเมืองแล้ว มีการรายงานผลการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย 17 ประเทศ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือชาวโรฮีนจาต่อไป
นอกจากนี้จะมีการหารือสรุปผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล ก่อนที่ นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 คนจะชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมแม่น้ำ 3 สาย ประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ในวันที่ 4 มิถุนายน
สำหรับวาระการประชุมคาดว่าจะมีการพิจารณาโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในหลายกระทรวง รวมถึงกระทรวงการคลัง เสนออนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 15,000 ล้านบาท ที่กระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 3 และให้ผู้ประกอบการจ่ายเองร้อยละ 4 โดยปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์