เครือข่ายพลเมืองจังหวัดนครนายก ร้องกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แฉผังเมืองแก้ไขใหม่เอื้อนายทุนข้าราชการ-นักการเมืองท้องถิ่นสร้างโรงงานกระทบสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งที่ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ “หมอนิรันดร์” แฉซ้ำคนร้องเรียนทั่วประเทศ สุดอนาถเปิดเวที 3 ชั่วโมงแล้วสรุปโมเมว่าดีเลิศ จี้นายกฯ วางผังเมืองนึกถึงหัวอกเกษตรกร ย้ำไม่มีอุตสาหกรรมใดไม่ทำลายทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม
วันนี้ (10 ส.ค.) ที่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เครือข่ายพลเมืองจังหวัดนครนายก นำโดย นายชิษณุชา ประมวลทรัพย์ เข้ายื่นร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง เกี่ยวกับกรณีการแก้ไขกฎกระทรวงให้บังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดนครนายก พ.ศ. 2555
โดยนายชิษณุชากล่าวว่า การแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมาย และกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เนื่องจากประชาชนในจังหวัดไม่มีส่วนร่วมในการยกร่างครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ทั้งข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น และอดีตนักการเมืองท้องถิ่น เปิดช่องให้สามารถสร้างอุตสาหกรรม การก่อสร้างที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเป็นการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2542 ที่ระบุให้จังหวัดนครนายกเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทั้งจังหวัด รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนครนายกอีกด้วย
“การมาร้องเรียนครั้งนี้เพราะเราเห็นว่า การทำผังเมืองครั้งนี้ได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของชาวนครนายกอย่างมาก ทั้งสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิในด้านความเข้าใจ เนื่องจากไม่มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชนเลย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดระบุว่ามีการทำประชาพิจารณ์และมีการติดป้ายประกาศเพื่อให้มาการร้องคัดค้านภายใน 90 วัน ก็ไม่มีใครรับรู้รับทราบ” นายชิษณุชากล่าว
ด้านนายรังสรรค์ ผดุงธรรม กล่าวว่า ยืนยันว่าการมาร้องเรียนครั้งนี้พวกเราไม่มีแกนนำ ไม่มีใครเป็นแกนนำ แต่ที่เรามาเพราะพวกเราได้รับผลกระทบโดยตรง จังหวัดนครนายกเป็นเมืองเกษตรกรรม แต่เมื่อมีผังเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรม ต่อไปคนทั้งประเทศก็จะได้กินกุ้งหอยปูปลาที่มีสารเคมีปนเปื้อนเป็นแน่ นอกจากนี้พวกเรายังเห็นว่ากระบวนการได้มาซึ่งผังเมืองไม่ชอบ มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การได้มาซึ่งผังเมืองมีการซ่อนเร้น ชาวบ้านจังหวัดนครนายกไม่มีการรับรู้รับทราบอีกด้วย
ขณะที่ นพ.นิรันดร์กล่าวว่า กรณีการจัดทำผังเมืองนี้ได้มีการร้องเรียนผ่านทาง กสม.จากทั่วประเทศ ทาง กสม.โดยอนุกรรมการฯ ได้มีการศึกษามาโดยตลอด เห็นว่าการวางผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวกับการจัดโซนนิ่ง ที่มีการแบ่งพื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ภาคเกษตรกรรม และพื้นที่ภาคอุตสากรรม ออกจากกัน โดยต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมของภาคเกษตรกรรมด้วย อย่าจัดวางผังเมืองโดยให้ภาคอุตสาหกรรมมาเบียดเบียนภาคเกษตรกรรม เพราะไม่มีอุตสาหกรรมใดที่ไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การจัดทำผังเมืองจะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีการบวนการการมีส่วนร่วมจะปกปิดประชาชนไม่ให้รับรู้รับทราบไม่ได้
“ขณะนี้เราอยู่ภายใต้มาตรา 44 นี่คือสิ่งที่น่าเสียใจที่สุด แต่เรายืนยันว่ากระบวนการตรวจสอบต้องเกิดขึ้น เราไม่ได้คัดค้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้คัดค้านนายกรัฐมนตรี หรือไม่ได้คัดค้านรัฐบาล แต่เราตรวจสอบเพื่อให้ผู้มีอำนาจรับรู้ว่าปัญหาที่ผ่านมาคือนโยบายโครงสร้าง ที่เราอยากให้ผู้มีอำนาจรับรู้และใช้อำนาจไปในทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่จัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นเพียง 3 ชั่วโมงแล้วสรุปว่ากระบวนการนี้ดีเลิศ มันไม่ใช่” นพ.นิรันดร์กล่าว
นพ.นิรันดร์กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้สรุปเกี่ยวกับคำร้องเรื่องการจัดทำผังเมืองทั่วประเทศเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนคำร้องนี้ตนจะนำเข้าที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) เพื่อพิจารณาต่อไป