xs
xsm
sm
md
lg

PTTGC จับมือทุกภาคส่วน พร้อมรับมือวิกฤติภัยแล้ง ส่งเสริมเพิ่มแหล่งน้ำแก่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระบบ RO Recovery บำบัดน้ำทิ้งจากโรงงานมาใช้ใหม่
PTTGC จับมือทุกภาคส่วน พร้อมรับมือวิกฤติภัยแล้ง เตรียมความพร้อมกระบวนการดำเนินงานภายในรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง มั่นใจไม่กระทบการดำเนินการผลิต มุ่งลดปริมาณการใช้น้ำของโรงงาน และการใช้ระบบ RO Recovery บำบัดน้ำทิ้งในโรงงานกลับมาเป็นน้ำสะอาดหมุนเวียนใช้ใหม่ พร้อมร่วมมือกรมชลประทาน/ กนอ./ กปภ./ อีสท์วอเตอร์ และกลุ่มผู้ประกอบการ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำ ภาคตะวันออก จ.ระยอง จัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในระยะสั้นและระยะยาว
สุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์
แผนบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า บริษัทฯ มีความห่วงใยต่อภาวะภัยแล้งในขณะนี้ ได้เตรียมความพร้อมในกระบวนการดำเนินงานภายในรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อการ ดำเนินการผลิตของโรงงาน โดยแนวทางหลักจะเป็นการลดปริมาณการใช้น้ำของโรงงาน และการใช้ระบบ RO Recovery บำบัดน้ำทิ้งในโรงงานกลับมาเป็นน้ำสะอาดหมุนเวียนใช้ใหม่
บริษัทฯ มีนโยบายเน้นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำระบบ 3R (reduce-reuse-recycle) มาใช้ในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้ะบบ RO Recovery เพื่อบำบัดน้ำทิ้งในโรงงานกลับมาเป็นน้ำสะอาดหมุนเวียนใช้ใหม่ ในปี 2557 บริษัทฯ ได้ลดการปล่อยน้ำทิ้งออกจากโรงงาน และนำ น้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่คิดเป็นปริมาณน้ำมากกว่า 730,000 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 140,000 ลูกบาศก์เมตร และในอนาคต บริษัทฯ มีแผนจะนำน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ เป็นสัดส่วนมากกว่า 45% ของปริมาณน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิต
อ่างเก็บน้ำดอกกราย รับปริมาณที่เพิ่มขึ้น 10 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล รับปริมาณที่เพิ่มขึ้น 20 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน ได้ร่วมมือกับ กรมชลประทาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บริษัท อีสท์วอเตอร์ และกลุ่มผู้ประกอบการ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำภาคตะวันออก จ.ระยอง เพื่อจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำในระยะสั้นและระยะยาว ลดปัญหาการใช้น้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน โดยมีแผนงานระยะสั้น เป็นการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งกักเก็บน้ำ ได้แก่ ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ การพัฒนาบ่อน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก การเสริมความสูงแก่ทางระบายน้ำล้น (Spillway) ของอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออก โดยการดำเนินงานตามแผนนี้ จะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในภาคตะวันออกอีก 224 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2560 ทางด้านแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาว เป็นการเพิ่มแหล่งน้ำใหม่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ การจัดทำเครือข่าย อ่างเก็บน้ำพื้นที่ระยอง ชลบุรี และ ฉะเชิงเทรา ได้แก่ โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ (อ่างพวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และรองรับการใช้น้ำในภาพรวมอีก 20 ปีข้างหน้า
การบริหารจัดการน้ำที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกัน จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤติน้ำแล้งในภาคตะวันออกในอนาคตได้อย่างบูรณาการ และมั่นใจได้ว่าภาคตะวันออกจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทั้งภาคอุตสาหกรรม ครัวเรือน และภาคเกษตรกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น