xs
xsm
sm
md
lg

“วัฒนา” อุทธรณ์ศาลปกครองถอนคำสั่งห้ามบินนอก ดักไม่ทำเป็นที่สุดความอยุติธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อดีต ส.ส.เพื่อไทยพร้อมทนาย ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ปค.กลางไม่รับฟ้อง ค้านประกาศ คสช.ห้ามออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาต หวังศาล ปค.สูงสุด-หน.คสช.ทบทวน ชี้ไม่เกิดประโยชน์ ย้อนมั่วสุมจริงคงไม่ขออนุญาต แนะดูการกระทำลูกน้องใช้อำนาจโดยพลการ ดักศาลไม่ตามใจ ถือว่าเป็นความอยุติธรรมสุดเลวร้าย ยอมรับใช้กำลังอาวุธเป็นใหญ่ ชี้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งชาติยิ่งเสียหาย จี้คืนอำนาจ

วันนี้ (10 ส.ค.) นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายวัฒนา เข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ไม่รับคำฟ้อง คดีที่นายวัฒนายื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากกรณีที่มีการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 21/2557 ลงวันที่ 23 พ.ค. 57 ห้ามบุคคลที่มีชื่อ 155 ราย เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาต ซึ่งนายวัฒนา ผู้ฟ้อง เป็น 1 ใน 155 รายชื่อดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยนายวัฒนากล่าวว่า มายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว เพื่อต้องการให้ศาลปกครองสูงสุดทบทวนดูการใช้ดุลพินิจของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องของตน รวมทั้งอยากฝากไปถึงหัวหน้า คสช.ขอให้ทบทวนคำสั่งที่ห้ามบุคคลออกนอกประเทศเพราะคำสั่งนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ใคร การที่กลัวว่าพวกตนไปต่างประเทศเพื่อมั่วสุมกันนั้น ตนยืนยันว่าถ้าจะไปมั่วสุมจริงคงไม่มาขออนุญาตอย่างเป็นทางการ และโลกสมัยใหม่ต่างมีเทคโนโลยีในการสื่อสารที่คอยอำนวยความสะดวกอยู่แล้ว แต่การเดินทางเป็นเรื่องจำเป็น จึงขอให้ยกเลิกคำสั่งที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพเช่นนี้ อีกทั้งขอให้หัวหน้า คสช.ดูการกระทำของลูกน้องที่มักจะใช้อำนาจโดยพลการและถือว่าเป็นต้นตอของปัญหา

ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งนั้น ตนเห็นว่าจะยิ่งทำให้บ้านเมืองเสียหายกว่าเดิม การปฏิรูปควรปล่อยให้รัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งตามปกติเป็นฝ่ายดำเนินการ หากปล่อยให้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทำนั้นอาจเป็นการคิดแทนประชาชน อย่าไปคิดว่าจะทำสำเร็จ เพราะจากผลงานที่ผ่านมาก็ดูแล้วยังทำไม่สำเร็จแต่อย่างใด จึงขอให้รีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ และการกดดันจากนานาชาติ

ทั้งนี้ คำอุทธรณ์ที่นายวัฒนายื่นต่อศาลได้โต้แย้งเหตุผลที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องระบุว่า ประกาศ คสช.ที่ห้ามบุคคลเดินทางเป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจ มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะ เลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ประกาศและการปฏิบัติตามประกาศ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางที่เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับให้การคุ้มครอง ถือเป็นการขัดประเพณีการปครองระบอบประชาธิปไตย ขัดต่อกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ตั้งแต่ปี 2540

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 4 ได้บัญญัติรับรองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมุนษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ย่อมได้รับการคุ้มครองต่อไป ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวย่อมต้องเหนือว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 47 ซึ่งรับรองการคำสั่ง ประกาศ และการกระทำของ คสช. ให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องโดยอ้างเฉพาะมาตรา 47 ดังกล่าว โดยไม่พิจารณาเนื้อหาสาระว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เท่ากับศาลปกครองกลางเห็นว่าหลักการของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่เป็นสากลและเป็นหลักการที่สืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่ คสช.เคารพ และผูกพันตนยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ขอพระราชทานมาไม่มีความหมาย สามารถถูกละเมิดได้โดยมาตรา 47 ทั้งที่มาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้พิพากษา ตุลาการมีอิสระในการพิพากษาอรรถคดี หากศาลและตุลาการทั้งหลายไม่ยืนยันและยืนหยัดในหลักการของมาตรา 26 ดังกล่าวด้วยการพิจาณณาเนื้อหาสาระก็จะกลายเป็นการรับรองความชอบธรรมของมาตรา 44 และมาตรา 47 ที่หัวหน้าคสช.หรือพวกพ้องจะมีคำสั่งหรือกระทำการ ซึ่งเท่ากับว่าหัวหน้า คสช.หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจะมีสถานะยิ่งใหญ่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญ สามารถสั่งการใดๆ ที่ขัดแข้งต่อรัฐธรรมนูญก็ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด รวมทั้งถึงกลายเป็นองค์การศาลปกครองเป็นไม่สนับสนุนประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

“คำสั่งของศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้อง นอกจากเป็นการปฏิเสธการทำหน้าที่ที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยังเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารว่ามีอำนาจกระทำการใดๆ ก็ได้ แม้จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญที่ไปขอพระราชทานมา และเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ การกระทำนี้จะทำให้วงจรรัฐประหารเกิดขึ้นในสังคมไทยไม่มีสิ้นสุด ประชาชนจะพึ่งพากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ การที่ประชาชนถูกละเมิดสิทธิพื้นฐานของความเป็นคน หรือที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชนจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่องค์กรที่มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมปฏิเสธที่จะปกป้องคุ้มครอง สิทธิดังกล่าว ย่อมถือว่าเป็นความอยุติธรรมที่เลวร้ายที่สุด การยอมรับอำนาจที่เกิดจากการใช้กำลังและอาวุธว่าอยู่เหนือความชอบธรรมใดๆ จะเป็นบ่อเกิดวงจรอุบาทว์ และนำไปสู่การใช้กำลัง อาวุธเข้าตัดสินกัน แทนที่จะยุติด้วยคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลที่อยู่บนพื้นฐานหลักนิติธรรม จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคำฟ้องไว้พิจารณา”



กำลังโหลดความคิดเห็น