xs
xsm
sm
md
lg

อ้างปฏิรูปคว่ำรัฐธรรมนูญระวังแผนตุกติกเกาะเก้าอี้-ยื้ออำนาจ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน


เวลานี้กระแสเรื่อง “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” กำลังถูกพูดถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนก็คือมาจากความ “ไม่ชัดเจน” หรือมองเห็นแล้วว่าเส้นทางการปฏิรูป “เริ่มสะดุด” ชักปล่อยเลยตามเลยไม่ค่อยมีการพูดถึงกันเหมือนเมื่อก่อน

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอ้างว่าการปฏิรูปทั้ง 11 ด้านขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมทั้งออกตัวในลักษณะที่ว่าตัวเขาไม่อาจไปชี้นำอะไรได้ ให้เป็นความคิดเห็นโดยอิสระ ลักษณะไม่ต่างจากการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบฯเป็นเพียงเสนอความเห็นรวมทั้งการอำนวยความสะดวกให้การทำงานราบรื่นเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ที่มาสะดุดความรู้สึกก็คือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะไม่ปฏิรูปตำรวจในรัฐบาลนี้ อ้างว่าไม่มีเวลาพอ รวมทั้งได้หลุดคำว่า “ถ้าปฏิรูปตอนนี้ก็ไม่มีคนทำงาน” อะไรประมาณนั้น ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้าที่ต้องเข้ามาดำเนินการต่อ

แน่นอนว่า เมื่อได้ยินแบบนั้นมันก็ทำให้ชาวบ้านที่กำลังติดตามมาตลอดต้องใจแป้วลงทันที เพราะว่าการ “ปฏิรูป” เป็นวาระเร่งด่วนที่ชาวบ้านมี “ความต้องการร่วม” ให้เร่งดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการ “ปฏิรูปตำรวจ” นั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อนเรื่องอื่น เนื่องจากความเสื่อมศรัทธาของประชาชนที่มีต่อวงการตำรวจตกต่ำจนถึงขีดสุด ประเภทที่เรียกว่าตีคู่มากันกับพวกนักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลาย เมื่อไม่มีการขยับ มันก็ย่อมทำให้เกิดความระแวงในทำนองคาดเดากันไปล่วงหน้าว่าจะ “เสียของ” อีก

คำพูดที่บอกว่า “เกรงว่าจะไม่มีคนทำงาน” ความหมายก็คือ “ไม่กล้าแตะ” อาจเป็นเพราะเกรงใจคนกันเอง ลักษณะแบบเดิมๆ คือ ลูบหน้าปะจมูกแบบเดิมๆ ในสังคมไทย อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ความรู้สึกของชาวบ้านที่มีทัศนคติในทางลบกับตำรวจมากขึ้นมันก็ยิ่งส่งผลในด้างลบไปถึงรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามไปด้วย

หากพิจารณากันแบบให้เข้าใจง่ายก็คือ นี่คือ “ความรู้สึกสะสม” หลังจากที่เริ่มผิดหวังจากผลงานของรัฐบาลมาเรื่อยๆ หลังจากเฝ้าดูและให้กำลังใจมากว่าหนึ่งปี ก็ยังไม่มีอะไรที่จับต้องได้ แม้ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะอ้างว่าเป็นปัญหาหมักหมมที่ต้องใช้เวลา แต่ขณะเดียวกันหากเวลาเนิ่นนานไปเรื่อยๆก็ต้องเห็นผลงานออกมาบ้างแล้ว ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจจะต้องเจอกับมรสุมที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้

แต่เวลานี้ที่น่าจับตาก็คือกำลังจะมีการโหวตร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ทางวิปสภาปฏิรูปแห่งชาติกำหนดเอาไว้คร่าวๆ คือ วันที่ 7 กันยายน ขณะเดียวกันก็เริ่มมีข้อเสนอเข้ามาก็คือ ต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ความหมายก็คือต้องการ “ต่อเวลา” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยืดเวลาออกไปอีกเพื่อทำภารกิจสำคัญดังกล่าวให้สำเร็จ ซึ่งก็มีหลายแบบ เช่น ฝ่ายอดีต กปปส.ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ เสนอขึ้นมาแบบ “ไม่กำหนดเวลา” นั่นคือให้อยู่ยาวก็ได้ แต่อีกฝ่ายหนึ่งที่มีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติบางคนมีแยกกันในรายละเอียด เช่น นายวันชัย สอนศิริ ให้ใช้วิธีคว่ำรัฐธรรมนูญ เพื่อเริ่มนับหนึ่งใหม่ ขณะที่ อีกคนหนึ่งคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอให้โหวตผ่านรัฐธรรมนูญแล้วให้พ่วงคำถามประชามติไฟเขียวให้อยู่ต่ออีก 2 ปี

แน่นอนว่าเวลานี้สิ่งที่ชาวบ้านเริ่มสงสัยกันมากขึ้นนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องการ “ต่อเวลา” หรือต้องใช้เวลาอีกสองปีหรืออีกกี่ปี แต่ยังรู้สึกว่า “ไม่มีความมั่นใจ” ว่าหากต่ออายุให้ไปแล้วจะไม่มีหลักประกันว่าจะมีการปฏิรูปตามที่ประชาชนต้องการหรือเปล่า เพราะระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาก็ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย ขนาดร่างรัฐธรรมนูญก็ยังมีความคิดที่จะคว่ำเพียงแค่ว่าต้องการให้ “นับหนึ่งใหม่” ทำให้มองว่า “ร่างมาเพื่อคว่ำ” และที่สำคัญมันช่วยไม่ได้ที่จะถูกเข้าใจว่านี่คือแผน “ตุกติก” ต้องการเกาะเก้าอี้และยื้ออำนาจของคนบางคนและบางกลุ่มที่สมประโยชน์เท่านั้น ซึ่งถือว่าอันตราย

ดังนั้น การจะคว่ำหรือไม่คว่ำรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นเรื่องของเหตุและผลความไม่ชอบในเนื้อหาภายในที่ไม่ได้ให้อำนาจประชาชน หรือถอยหลังลงคลอง มากกว่าการหลับหูหลับตาแอบอ้างเอาเรื่องปฏิรูปบังหน้า เพราะมันไม่มีหลักประกันอะไร และในวันหน้าก็อาจจะเกิดข้ออ้างแบบนี้ไม่สิ้นสุด!
กำลังโหลดความคิดเห็น