เผยมติ “อัยการสูงสุด” เห็นชอบตามคณะทำงานร่วม ป.ป.ช. สั่งฟ้อง “จุฑามาศ ศิริวรรณ” อดีตผู้ว่าฯ การท่องเที่ยว ปมเรียกรับเงินนักธุรกิจอเมริกันเพื่อให้สิทธิ์จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาทเผย ทำหนังสือให้มารายงานตัวอัยการสูงสูงสุดวันจันทร์นี้ หากไม่มาเตรียมออกหมายจับ
วันนี้ (6 ส.ค.) มีรายงานว่า กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญาต่อนางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรณีเรียกรับเงินจากนักธุรกิจชาวอเมริกันเพื่อให้สิทธิ์จัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท และมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) จนกระทั่งคณะทำงานร่วมฯ มีมติเห็นชอบให้ส่งฟ้องนางจุฑามาศ
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเผยว่า สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีหนังสือลงวันที่ 27 ก.ค. 2558 แจ้งให้สำนักงาน ป.ป.ช.ทราบว่า อสส. พิจารณารายงาน เอกสาร และความเห็นของคณะทำงานร่วมฯ แล้ว มีคำสั่งดำเนินคดีอาญาฟ้อง นางจุฑามาศ ตามฐานความผิดและบทกฎหมายที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ลงมติ และเนื่องจากคดีนี้เหตุเกิดที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร จึงต้องดำเนินการฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลอาญาอันเป็นศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 97
มีรายงานว่า ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ทาง ป.ป.ช.จะได้ส่งหนังสือแจ้งนางจุฑามาศตามที่อยู่ทะเบียนราษฎรเพื่อให้มารายงานตัวต่ออัยการสูงสุด เพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลต่อไป โดยตามปกติจะให้เวลาภายในระยะเวลา 15 วัน และส่วนใหญ่จะนัดให้มาในวันจันทร์ เพื่อยื่นดำเนินการประกันตัวได้ทันที แต่หากไม่มารายงานตัว ป.ป.ช.จะขอให้ศาลออกหมายจับเพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นนั้นอัยการสูงสุดทราบว่านางจุฑามาศยังพำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด
มีรายงานว่า คดีนี้มีนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหัวหน้าคณะทำงานร่วมฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนหน้านั้น กรณีนี้อัยการสูงสุดได้แจ้งข้อไม่สมบูรณ์และขอให้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างผู้แทนอัยการสูงสุดและผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขึ้น
ในการดำเนินการของคณะทำงานร่วมฯ ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะพยานหลักฐานผ่านช่องทางความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาจากกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้คณะทำงานร่วมฯ มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยอัยการสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการฟ้องคดีตามกฎหมาย
ส่วนสหรัฐอเมริกาได้มีการดำเนินคดีต่อผู้ให้สินบนชาวอเมริกัน โดยศาลได้พิพากษาลงโทษผู้ให้สินบนดังกล่าวแล้ว สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด รวมมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 60 ล้านบาท กำลังดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ประเทศไทยในฐานะรัฐผู้เสียหาย ตามพันธกรณีสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา และตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ปี 2546 ในประเด็นเกี่ยวข้องกับการติดตามทรัพย์สินคืนนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีนางจุฑามาศ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่ำรวยผิดปกติ เพื่อร้องขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการคู่ขนานกันไปด้วย
มีรายงานว่า คดีนี้ เมื่อปี 2554 นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน
พบว่า นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับสินบน 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 60 ล้านบาท จากนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน สองสามีภรรยา นักสร้างภาพยนตร์เพื่อให้ได้สิทธิ์การจัดนิทรรศการภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ (บางกอกฟิล์มเฟสติวัล) เมื่อปี 2550 โดยในวันที่ 23 ส.ค. 2554 ที่ประชุม ป.ป.ช.ได้ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาต่อนางจุฑามาศในความผิดมาตรา 6 และมาตรา 11 ตาม พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และมาตรา 12 พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
นอกจากนี้ ที่ประชุม ป.ป.ช.ยังมีมติชี้มูลความผิดบุตรสาวของ น.ส.จุฑามาศในข้อหาให้การสนับสนุนในการกระทำผิด โดยให้ส่งเรื่องไปให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลต่อไป
สำหรับคดีนี้ศาลสหรัฐอเมริกาและเอฟบีไอได้ดำเนินคดีต่อนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ โดยนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย ถูกศาลสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้มีความผิดและถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน จากนั้นจะถูกกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน และต้องจ่ายค่าชดใช้ 250,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท โดยคำฟ้องระบุว่านายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย จ่ายสินบน 1.8 ล้านดอลลาร์แก่นางจุฑามาศ ผ่านบัญชีธนาคารในสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ที่เปิดขึ้นในนามของบุตรสาวนางจุฑามาศ และเพื่อนคนหนึ่งโดยผ่านการโอนเงินหลายครั้งซึ่งอ้างว่าเป็นการโอนเงินค่าคอมมิชชันธรรมดา โดยนายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย มีรายได้มากกว่า 13.5 ล้านดอลลาร์จากสัญญาที่ได้จากไทย
ขณะที่นางจุฑามาศ ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ศาลนครลอสแองเจลิสได้ตั้งข้อหานางจุฑามาศและบุตรสาวว่าสมคบคิดรับสินบนในคดีนี้ และหากถูกตัดสินว่ามีความผิดอาจต้องโทษจำคุก 20 ปี นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ยังรายงานว่ามีผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้อีก 3-4 คน ทั้งระดับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ แต่ในเบื้องต้น ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดเฉพาะนางจุฑามาศและบุตรสาว และจะสอบผู้เกี่ยวข้องรายอื่น