ประชุมสปช.พิจารณารายงานกมธ.ปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค 5 เรื่อง ควบพ.ร.บ. 6 ฉบับ ก่อนเห็นชอบ "สารี" ชำแหละปัญหา ยก 4 หัวใจปฏิรูป ปชช.ต้องมีส่วนร่วม สร้างระบบเตือนภัย พัฒนากลไกร้องเรียน รัฐคุ้มครอง สมาชิกเสนอแก้กม.องค์กรสื่อ ปรับโครงสร้างกสทช.เน้นเชี่ยวชาญด้านวิทยุ-โทรคมนาคม ตัดนักสื่อสารมวลชน
วันนี้ (29ก.ค.) ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปหน่วยงานภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค 2.การจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและร่างพ.ร.บ.การแจ้งเตือนภัยและจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค พ.ศ. ... 3.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า และร่างพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ... 4.ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... 5.การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข และร่างพ.ร.บ. จำนวน 3 ฉบับ (ประกอบด้วย 1.ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... 2.ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... 3.ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...)
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวชี้แจงว่า ปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันมี 6 เรื่อง ได้แก่ 1.คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร 2.ที่อยู่อาศัยชำรุดไม่ได้รับการคุ้มครอง 3.การรักษาพยาบาลแพง 4.รถยนต์ชำรุดไม่ได้รับการคุ้มครอง 5.ค่าโทรศัพท์ กรณีนี้ สปช. เคยมีมติเห็นชอบให้มีการแก้ปัญหาโดยการคิดค่าโทรเป็นวินาทีแล้ว และจะต้องขยายการแก้ปัญหาให้ครบวงจรของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม 6.หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ต้องปฏิรูปอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังขาดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขาดความเข้าใจ เทคโนโลยี และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อประกอบการตัดสินใจ อีกทั้งการผูกขาดทางการค้าของธุรกิจขนาดใหญ่ และองค์กรผู้ประกอบการขาดการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนขาดระบบเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพ และสิทธิผู้บริโภคไทยยังไม่เท่าเทียมกับสากล
“ดังนั้น หัวใจสำคัญในการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค 4 ประการ คือ ประชาชนมีส่วนร่วมคุ้มครองผู้บริโภค สร้างระบบข้อมูลเตือนภัยเพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค พัฒนากลไกร้องเรียนและชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค และปฏิรูปภาครัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค” น.ส.สารีกล่าว
ทั้งนี้สมาชิก สปช. ได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่างๆ พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น การปฏิรูปคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้มีความโปร่งใสชัดเจนในเรื่องงบประมาณมากขึ้น ส่งเสริมการโฆษณาด้านการคุ้มครองผู้บริโภคให้มากขึ้นและเข้าใจง่าย และยืนยันว่า การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข จะช่วยเยียวยาความเสียหายผู้ได้รับผลกระทบ เรื่องการฟ้องร้องจะเบาลงไป
นายนิพนธ์ นาคสมภพ สมาชิก สปช. อภิปรายเสนอให้ตัดและปรับมาตรา 7 (12) ใน พ.ร.บ.องค์กรสื่อ 2553 ว่าด้วยเรื่องการสรรหากรรมการ กสทช. โดยขอให้ผู้ที่สมัครกรรมการ กสทช. ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญมาจากด้านวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมด้านละ 1 คน ต้องผ่านงานเกิน 10 ปี และมีเกียรติประวัติด้านวิทยุโทรทัศน์รับรอง ส่วนนักสื่อสารมวลชน 1 คน ตัดออก เพราะนักวิทยุโทรทัศน์เป็นนักสื่อสารมวลชนทุกคน แต่นักสื่อสารมวลชนทุกคนไม่ใช่นักวิทยุโทรทัศน์ อาจเป็นนักหนังสือพิมพ์หรือทำนิตยสารก็ได้