xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองไกล่เกลี่ย “ไทยทีวี” ออกอากาศต่อ “ติ๋ม ทีวีพูล” รอนายทุนใหม่รวย-มีสมองแค่ไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลปกครองไกล่เกลี่ยให้ กสทช.-ไทยทีวี หาทางออก 3 เดือน ระหว่างปรับแผนธุรกิจ ออกอากาศไปก่อน 3 เดือน ถึง 31 ต.ค. นี้ “เจ๊ติ๋ม” บอกต้องดูว่าผู้ร่วมทุนใหม่ จะรวย มีสมอง และมีศักยภาพแค่ไหน กสทช. รับจะเปิดเวทีหาผู้ร่วมทุน แต่ส่วนตัวยืนยันไม่เอาแล้ว แบกภาระเดือนละ 20 ล้าน ด้าน “สุภิญญา” ระบุหากหานายทุนใหม่ไม่ได้ก็เพิกถอน-พักใช้ใบอนุญาต “นที” ลั่นเงินค่าประมูลและค่าปรับต้องจ่ายต่อไป ไม่ได้ก็เจอกันที่ศาล

วันนี้ (21 ก.ค.) ที่อาคารศาลปกครอง องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง ได้ออกนังบัลลังก์ไต่สวนครั้งที่ 2 ในคดีที่ บริษัท ไทยทีวี จำกัด ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ประเภทช่องรายการข่าวและสาระ ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสือของ กสทช. เรื่องการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และห้าม กสทช. ดำเนินการใดๆ เพื่อบังคับตามหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 10 ก.พ. 57 รวม 16 ฉบับ และให้ กสทช. คืนหนังสือค้ำประกันให้กับ บริษัท ไทยทีวี ด้วย รวมทั้งให้ กสทช.คืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวน 365,512,000 บาท และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยอีกจำนวน 713,828,282.94 บาท และขอศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจระดับชาติของ กสทช.เป็นโมฆะ

โดยก่อนหน้านี้ ศาลได้ไต่สวนเมื่อวันที่ 9 ก.ค. และเห็นว่าประเด็นพิพาทแห่งคดีน่าที่ 2 ฝ่ายจะตกลงกันได้ จึงให้สองฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อหาทางออกไม่ให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีจอดำเกิดผลกระทบกับประชาชน ทั้งนี้ การไต่สวนวันนี้ ผู้บริหารทั้งสองฝ่ายเดินทางมาให้ถ้อยคำต่อศาลอย่างพร้อมเพรียง โดยฝ่าย กสทช. ประกอบด้วย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช., น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช., นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. และ น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ ผอ.สำนักการอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียง กสทช.

ขณะที่ฝ่ายบริษัทไทยทีวี นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ติ๋ม ทีวีพูล กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ไทยทีวี จำกัด เดินทางมาด้วยตนเองพร้อมกับ นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นายสุชาติ ชมกุล ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย และ น.ส.ดลณภา คำสอน โดยนางพันธุ์ทิพากล่าวก่อนเข้าให้ถ้อยคำว่า กสทช.ให้เวลาขึ้นตัวหนังสือวิ่งเรื่องการยุติการออกอากาศของบริษัท ไทยทีวี 30 วันก่อนการยุติออกอากาศ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชน ซึ่งจะครบกำหนดการออกอากาศในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 25 ก.ค.นี้ ถือเป็นการยุติการออกอากาศของช่องไทยทีวีในระบบดิจิตอลในส่วนของกฎมัสแครี่ แต่ในส่วนของดาวเทียมและเคเบิลช่อง 7 ยังคงออกอากาศเหมือนเดิม เพื่อให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด ซึ่งการยุติการออกอากาศดังกล่าวเป็นคำสั่งของ กสทช.

“วันนี้ในการไต่สวนจะรอฟังว่า กสทช.จะเปิดโอกาสหรือไม่อย่างไร เพราะเราเองก็ไม่ได้อยากฟ้อง แต่มีความเสียหายเกิดขึ้น และไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่ลุกขึ้นสู้เป็นตัวแทนประชาชน เพื่อให้ กสทช.ทบทวนการทำหน้าที่ของตัวเองว่าได้ทำครบหรือยัง จึงเชื่อว่าไม่ใช่แค่ช่องไทยทีวีช่องเดียวที่เสียหาย ยังมีเจ้าอื่นที่เสียหายอีก” นางพันธุ์ทิพากล่าว

ภายหลังการไต่สวนนานกว่า 3 ชั่วโมง พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. พร้อมด้วย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.เปิดเผยว่า ศาลไกล่เกลี่ยให้ทั้ง กสทช.และบริษัท ไทยทีวี ไปหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง โดยให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีดำเนินการออกอากาศต่ออีก 3 เดือน ระหว่างปรับแผนธุรกิจหาผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อให้ไทยทีวีเดินหน้าทีวีดิจิตอล ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่าเป็นระยะเวลาที่เหมาะ แต่เงินค่าประมูลใบอนุญาตงวดที่ 2 ที่บริษัท ไทยทีวี ยังคงค้างจ่ายนั้น บริษัท ไทยทีวี ก็ต้องจ่ายค่าปรับต่อไป ส่วนการหาผู้ร่วมทุนยังคงเป็นไปตามข้อกฎหมายตามเกณฑ์การประมูลใบอนุญาต คือ ผู้ที่จะมาร่วมทุนกับบริษัท ไทยทีวี ต้องห้ามถือเกิน 3 ใบอนุญาต ถ้าหาพันธมิตรไม่ได้ ก็ต้องพักใช้ใบอนุญาตไปก่อน เพราะการจะเพิกถอนใบอนุญาตได้นั้น บริษัท ไทยทีวี จะดำเนินการเองฝ่ายเดียวไม่ได้ หาก กสทช. ไม่อนุญาต ถ้าไทยทีวีไม่เห็นด้วย ก็ต้องไปเจอกันที่ศาล

ด้านนางพันธุ์ทิพากล่าวว่า ได้ข้อสรุปตรงกัน สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีจะยังไม่จอดำ ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ โดยจะขยายเวลาไปอีก 3 เดือน จนถึงวันที่ 31 ต.ค. ทั้งนี้ ต้องดูว่าผู้ร่วมทุนใหม่ที่เข้ามานั้น จะรวย มีสมอง และมีศักยภาพในการผลิตรายการมากแค่ไหน ซึ่งทาง กสทช. ก็รับที่จะเปิดเวทีช่วยหาผู้ร่วมทุนใหม่ให้ และปรับวิธี ส่วนเรื่องเงินยังไม่มีการพูดกันในวันนี้ เนื่องจากศาลอยากเห็นว่า ทีวีดิจิตอลยังเปลี่ยนผ่านได้

“วันนี้ค่าเงินที่ค้างจ่ายประมูล หรือแบงก์การันตี สองฝ่ายยังไม่ได้มีใครเริ่มคุยว่าจะทำอย่างไร เพราะหากคุยก็คงเดินหน้าต่อกันไม่ได้ วันนี้จึงคุยแค่ว่าจะเดินหน้าอย่างไร เพื่อให้ยังคงออกอากาศต่อไปได้ แต่เรายืนยันว่า เราไม่เอาแล้ว ไม่อยากทำจริงๆ แล้ว แต่จากนี้ก็ต้องไปหาบริษัทที่สนใจมาร่วมทุนกัน ซึ่งขณะนี้แต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 20 ล้านบาทต่อเดือนต่อช่อง”

ด้าน พ.อ.นทีกล่าวว่า กสทช.ให้เวลาบริษัท ไทยทีวี อีก 3 เดือน ในการออกอากาศและหาผู้ร่วมลงทุนสำหรับเงินค่างวดที่ 2 ขณะนี้ยังไม่ได้ทวงถาม ซึ่งเท่ากับบริษัทยังค้างชำระอยู่ตามกฎและกติกาไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ

“คิดว่าน่าจะเป็นแนวทางที่ดี ที่สองฝ่ายจะให้ความร่วมมือกันโดยไม่มีใครขอร้องใคร ถ้ามีตรงไหนที่ กสทช. ให้การสนับสนุนได้ภายใต้กรอบกติกาและไม่เกินความสามารถ กสทช.ก็อยากสนับสนุน เพราะจะทำให้ทีวีดิจิตอลได้เคลื่อนไปข้างหน้า” พ.อ.นทีกล่าว

ขณะที่ น.ส.สุภิญญากล่าวเสริมว่า การหาผู้ร่วมทุนของบริษัท ไทยทีวี นั้น ในส่วนของ กสทช.ไม่ใช่การจัดหาผู้ร่วมลงทุนให้โดยตรง เพราะจะกลายเป็นการสร้างวิธีพิเศษ แต่ กสทช.คงให้การสนับสนุนในการเปิดเวทีเพื่อ บริษัท ไทยทีวี จะจัดหาผู้ร่วมทุนเอง ขณะที่สัดส่วนของผู้ร่วมลงทุนใหม่นั้นต้องเป็นไปตามกติกา แต่หากพ้นจาก 3 เดือนแล้ว ถ้าบริษัท ไทยทีวี ไม่อาจปรับแผนธุรกิจหาผู้ร่วมลงทุนใหม่ได้ และไม่อาจปฏิบัติตามกติกาของ กสทช.ก็ต้องนำไปสู่กระบวนการพิจารณาเพิกถอน และพักใช้ใบอนุญาต

แต่ขณะเดียวกัน หากภายในวันที่ 26 ก.ค.นี้ บริษัท ไทยทีวี จะยุติการออกอากาศเอง กสทช.ก็ต้องพิจารณาดำเนินการเพิกถอนและพักใช้ใบอนุญาต สำหรับกรณีที่บริษัท ไทยทีวี มีหนังสือแจ้งขอหยุดออกอากาศตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.นั้น ตามขั้นตอน กสทช.ต้องเป็นผู้ให้อนุญาตเท่านั้น และถ้ามีการยุติออกอากาศจาก กสทช. แล้วบริษัทก็ต้องทำทุกอย่างให้ครบตามขั้นตอน คือ การขึ้นตัววิ่งและจ่ายเงินค่างวดค้างชำระ แต่ระหว่างนี้ยังไม่ได้มีการพักใช้ใบอนุญาต บริษัท ไทยทีวี จึงยังออกอากาศได้


กำลังโหลดความคิดเห็น