xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ถกญี่ปุ่น-ผู้นำลุ่มโขง หนุนยุทธศาสตร์โตเกียว 2015 ชูเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน-เขต ศก.พิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีพร้อมผู้นำลุ่มน้ำโขงถกนายกฯ ญี่ปุ่น ชี้ถึงเวลาจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือฉบับใหม่ ชมเจ้าบ้านมีส่วนช่วยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ยันรัฐสยามเน้นลดเหลื่อมล้ำ ช่องว่าง สร้างความเท่าเทียม ไม่ทิ้งมิตรไว้ข้างหลัง เสนอ 4 ข้อ เชื่อมโยงโครงสร้างเพื่อนบ้านแบบไร้รอยต่อ ขยายเส้นทางสู่พม่า ยินดีลง MOI 3 ชาติพัฒนาทวาย สร้างเขต ศก.พิเศษชายแดน เผยมีมาตรการการเงินส่งเสริมตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศ พร้อมยกระดับฝีมือแรงงาน

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำประเทศ CLMV ได้เข้าร่วมพิธีต้อนรับ ณ ห้องฮาโงะโระโมะ โนะ มะ (Hagoromo-no-ma) เรือนรับรองรัฐบาลญี่ปุ่น จากนั้นนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีช่วยคมนาคมและเลขาธิการสภาฯ ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7

ภายหลังการประชุม พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญ เพราะถึงเวลาที่เราต้องจัดทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือฉบับใหม่ ในขณะที่ประเทศลุ่มน้ำโขงจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน และสหประชาชาติกำลังจะกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระเพื่อการพัฒนาภายหลังปี พ.ศ. 2558 ท่ามกลางพลวัตเหล่านี้เป็นโอกาสอันดีที่เราจะร่วมกันกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงในแนวทางที่สร้างสรรค์และส่งเสริมพัฒนาการในอาเซียนและนอกอาเซียน

นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมญี่ปุ่นที่ได้มีส่วนร่วมสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเงินทุนและความร่วมมือทางวิชาการ ไทยตระหนักได้ถึงความสำคัญที่ญี่ปุ่นให้แก่ลุ่มน้ำโขงมาอย่างต่อเนื่อง ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อให้ลุ่มน้ำโขงเป็นพลังขับเคลื่อนของภูมิภาคและของโลกอย่างยั่งยืน และสนับสนุนยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ 2015 ซึ่งกำหนดเป้าหมายและแนวทางดำเนินการที่สอดคล้องเกื้อกูลกับวิสัยทัศน์การพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยเน้นความต่อเนื่องกับยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2012 ที่กำลังจะครบวาระลงในปีนี้ ไทยเห็นพ้องกับยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ที่จะมุ่งเน้นการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงการเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศและประชาชน สร้างความเท่าเทียม สร้างบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจและไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพื่อก้าวไปสู่ความเจริญด้วยกัน โดยไม่ทิ้งมิตรประเทศไว้ข้างหลังเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีเสนอให้ควรร่วมมือกันโดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้

ประการแรก การพัฒนาความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกการไหลเวียนของสินค้า การลงทุน และการไปมาหาสู่กันของประชากรลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญมาก ไทยได้สนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินและความร่วมมือด้านวิชาการ เป็นมูลค่ากว่า 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่โครงการที่กำลังดำเนินอยู่ในกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม การให้ความช่วยเหลือเพื่อขยายเส้นทางสู่พม่าตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) ซึ่งมีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระหว่างเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 ที่แม่สอด-เมียวดี โดยไทยยินดีสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างจำนวน 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รัฐบาลไทยได้เห็นชอบวงเงินกู้จำนวน 4,500 ล้านบาท (134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการพัฒนาเส้นทางระหว่างบ้านพุน้ำร้อน-ทวาย ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) เพื่อเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเข้ากับกรุงเทพฯ โดยผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่ในวันนี้ จะได้มีการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intent — MOI) ระหว่างพม่า-ไทย-ญี่ปุ่น เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนปรับเปลี่ยนระเบียงขนส่งให้เป็นระเบียงแห่งเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ไทยกำลังเร่งรัดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใน 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด หนองคาย และ สงขลา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน และเปลี่ยนเส้นเขตแดนให้เป็นพรมแดนแห่งการค้าการลงทุนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ก้าวต่อไปของการพัฒนาความเชื่อมโยงคือ เราจะต้องแสวงหาลู่ทางขยายความเชื่อมโยงไปสู่นอกอนุภูมิภาค ผ่านกรอบความร่วมมือเช่น APEC และ ACD เพื่อเข้าถึงตลาดและแหล่งทุน นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเราควรพัฒนาความเชื่อมโยงต่อเนื่องหลายรูปแบบ ให้การสัญจรทางบก น้ำ และอากาศของเราสามารถเชื่อมต่อกันได้ ในการนี้ ไทยมีความยินดีที่จะร่วมกับญี่ปุ่นพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางรถไฟสายอื่นบนระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกันทั้งในระดับประเทศและระดับอนุภูมิภาคต่อไป

ประการที่ 2 ไทยตระหนักว่าทรัพยากรมนุษย์คือหัวใจสำคัญของการพัฒนา เราจึงต้องเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน ให้สามารถตอบสนองความต้องการแรงงานที่มีทักษะในภาคการผลิต และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ทุกประเทศไม่ขาดแคลนแรงงานและประชากรลุ่มน้ำโขงมีงานทำที่ดี มีรายได้ที่มั่นคง ไทยพร้อมสานต่อความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการพัฒนาบุคลากรและยกระดับฝีมือแรงงานในลุ่มน้ำโขงและสนับสนุนความร่วมมือไตรภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือแบบหุ้นส่วนไทย-ญี่ปุ่นด้านวิชาการในระยะที่สอง และไทยยังได้จัดฝึกอบรมในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของลุ่มน้ำโขง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และกำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานชายแดนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ ไทยขอบคุณญี่ปุ่นในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจน การจัดทำวิสัยทัศน์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในลุ่มน้ำโขง (Mekong Industrial Development Vision Draft) เพื่อให้ลุ่มน้ำโขงเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่มูลค่าของเอเชีย

นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และวิทยาการผ่านการขยายการลงทุนในลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รัฐบาลไทยได้วางแนวทางส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศ (International Headquarters — IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centres — ITC) ทำให้นักลงทุนสามารถขยายการลงทุนต่อเนื่องไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ในลักษณะ “บวกหนึ่ง”

ประการที่ 3 อนุภูมิภาคของเราจะไม่สามารถพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนได้ หากประเทศต่างๆ ยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากประเด็นท้าทายใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชากรและสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ นายกรัฐมนตรียินดีที่ญี่ปุ่นและประเทศลุ่มน้ำโขงต่างก็เห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและระบุอยู่ในยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ ไทยเองก็เพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคของเราอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยยินดีที่ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพกับญี่ปุ่นจัดการประชุม Green Mekong Forum อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมของลุ่มน้ำโขง และเพื่อติดตามการดำเนินงานภายใต้ข้อริเริ่มสู่ทศวรรษแห่งลุ่มน้ำโขงเขียวขจี

ประการสุดท้าย การเติบโตอย่างมีคุณภาพหมายถึงเราจะต้องเติบโตไปด้วยกันโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราจะต้องมั่นใจว่าแนวทางการพัฒนาในด้านต่าง ๆข้างต้น จะเอื้อประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ในการนี้เราต้องไม่ลืมที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรเพราะเป็นแหล่งรายได้ของประชากรลุ่มน้ำโขงจำนวนมาก ไทยสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนและแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร เสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ตลอดจนการทำธุรกิจชุมชน

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า ทุกอย่างจะสำเร็จได้ตามเจตนารมณ์ของพวกเรา ขึ้นอยู่กับปัจจับพื้นฐาน ความมีเสถียรภาพทางการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคของเราอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งพวกเราจะต้องร่วมมือซึ่งกันและกันในประเด็นดังกล่าวนี้ โดยการขับเคลื่อนให้รวดเร็ว ทบทวนจัดลำดับความเร่งด่วนของกิจกรรมหลัก/กิจกรรมย่อย ที่แต่ละประเทศมีศักยภาพ มีการกำหนดเวลาวาง Roadmap เพื่อให้เกิดผลสมบูรณ์ สอดคล้องกันโดยทันที เพื่อให้ตรงกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในภูมิภาคของเราและภูมิภาคอื่นๆในโลกต่อไป นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การพัฒนาที่ทำให้เราเติบโตไปด้วยกัน มีเป้าหมายเพื่อความเจริญ ความกินดีอยู่ดีและความสุขของประชาชนลุ่มน้ำโขง เป็นที่ตั้งการสร้างสังคมแห่งความสันติสุขและถาวรอย่างแท้จริงให้กับโลก

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยที่จะร่วมกับทุกประเทศในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและสัมฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำมาซึ่งความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น









กำลังโหลดความคิดเห็น