โฆษก คสช.โต้ 281 อาจารย์ EU-UN อะลุ้มอล่วยนักศึกษามาตลอดก่อนจับ ชี้ยังสู้ตามกระบวนการยุติธรรมได้ เผยมี 3-4 ฐานความผิด แจงบทลงโทษตามกฎหมายอาญาเดิมอยู่แล้ว รับบางส่วนมีเจตนาแฝงแสดงออกต้องจัดการ ทำแบบเปิดเผย ย้ำปฏิบัติตามหลักสากล ย้อนอ้างเสรีภาพละเมิดกฎหมาย สังคมจะอยู่อย่างไร แนะองค์กรต่างประเทศข้องใจขอข้อมูลได้
วันนี้ (1 ก.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ทาง 281 อาจารย์มหาวิทยาลัยในนามเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง เรียกร้องให้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ให้มีการตั้งข้อหา หรือดำเนินคดี โดยมีสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (อียู) และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (โอเอชซีเอชอาร์) ออกแถลงการณ์จี้ให้ทางรัฐบาลปล่อยตัวนักศึกษาว่า ขณะนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่พยายามรักษาให้เป็นไปตามบรรทัดฐานเดียวกันของบุคคลในทุกสถานะพร้อมพิจารณาใช้อย่างสมดุลเหมาะสม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พยายามที่จะอะลุ่มอล่วย เพราะเจ้าหน้าที่เข้าใจถึงสถานะและวุฒิภาวะดี โดยเริ่มจากการว่ากล่าวตักเตือน และการขอความร่วมมือเป็นหลักปฏิบัติ
พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า ส่วนทางคดีนั้นน่าที่จะเป็นเรื่องของดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งน่าจะไปเกี่ยวข้องกับคดีอาญาด้านความมั่นคงด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหานั้นผู้ถูกล่าวหายังสามารถไปแก้ต่างกันได้ตามเหตุตามผล และตามพยานหลักฐานข้อเท็จจริงได้ตามช่องทางกระบวนการยุติธรรมซึ่งก็เป็นไปตามหลักสากลทั่วไป สำหรับข้อกังวลหรือข้อเรียกร้องของกลุ่มองค์กรใด ๆ คงต้องพิจารณาว่าขัดต่อแนวทางของการรักษากฎหมายหรือไม่ ส่วนข้อกังวลในเรื่องที่จะมีการฟ้องคดีกับศาลทหารนั้น ปัจจุบันนี้จะมีเพียง 3-4 ฐานความผิดที่จำเป็นต่อการรักษาชีวิตความสงบสุขของประชาชน หรือมีผลกระทบความมั่นคง รวมถึงความผิดที่เกี่ยวพันโดยตรงกับความไม่สงบเรียบร้อยของประเทศในช่วงที่ผ่านมาเท่านั้น
“สำหรับข้อกังวลของบทลงโทษที่ได้รับยาวนานเกินไปจากการใช้เสรีภาพนั้น อาจเป็นการมีข้อมูลไม่ครบถ้วน คงต้องดูเป็นกรณีไปว่าการใช้เสรีภาพนั้นๆ ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เพราะกรณีโทษที่ได้รับจากกรณีฝ่าฝืนประกาศคำสั่ง คสช.ที่ว่าด้วยเรื่องการห้ามชุมนุมสุดท้ายจะมีโทษปรับกับโทษจำคุกเพียงไม่กี่เดือน แต่ถ้ากรณีถูกมองว่าเข้าข่ายความผิดในคดีอาญาด้านความมั่นคงจริง บทลงโทษก็คงเพิ่มความรุนแรง แต่ก็เป็นบทลงโทษที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้เรื่องการแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้ภายใต้ช่องทางที่เหมาะสมอยู่แล้ว ช่วงนี้อาจยังมีบางส่วนที่มีเจตนาแอบแฝง พยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งให้มากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ทราบดีจึงพยายามดำเนินการต่างๆ อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาด้วยความระมัดระวัง มั่นใจว่าการดำเนินการใดๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความจำเป็นของสถานการณ์ทุกประการ ทั้งนี้เพื่อให้สังคมประเทศชาติเกิดความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความสุข ไม่เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์อย่างเช่นในอดีต ขอย้ำว่าประเทศไทยยึดถือมาโดยตลอดในเรื่องการปฏิบัติตามหลักสากล สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น และไม่ทำให้สังคมโดยรวมวุ่นวาย” พ.อ.วินธัยกล่าว
พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า สำหรับองค์กรกรต่างประเทศอย่าได้กังวลในการดำเนินการของทางการไทย เพราะภายใต้กฎหมายของประเทศไทยจะมีบทลงโทษเฉพาะผู้ที่กระทำผิดเท่านั้น อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมก็เปิดโอกาสให้มีการชี้แจง ข้อกล่าวหาและปกป้องเสรีภาพของตนเองได้ตามช่องทางที่กฎหมายระบุ เพียงแต่ในช่วงเวลานี้ ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้ช่องทางในการรักษาสิทธิเสรีภาพของตนอย่างถูกต้องก็จะทำให้ทุกส่วนได้เห็นเจตนาที่แท้จริงอย่างแน่นอน และในอีกมุมหนึ่งหากมีผู้พยายามละเมิดกฎหมายด้วยอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้วไม่ถูกดำเนินการใดๆ แล้วสังคมส่วนใหญ่จะสงบสุขได้อย่างไร หากองค์กรต่างประเทศมีความกังวลใจในเรื่องนี้สามารถประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามช่องทางที่เหมาะสมระหว่างประเทศได้อยู่แล้ว และหากพิจารณาตามข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้านจากทุกฝ่ายแล้วจะเห็นว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และความเป็นสังคมไทย เชื่อว่าสังคมไทยและประชาคมโลกมีความเข้าใจในบริบทดังกล่าวอย่างแน่นอน