รัฐบาลโต้ข้อเรียกร้อง UN-EU จี้ปล่อยตัว 14 นักศึกษาดาวดิน ย้ำต้องทำตามกฎหมาย หวั่นเกิดลัทธิเอาอย่าง “สุวพันธุ์” เชื่อองค์กรต่างประเทศทำไปตามหลักการ ไม่กดดันไทย ย้ำติดตามคนหนุนหลังกลุ่มเคลื่อนไหวพวกนี้มากว่า 10 ปี รู้อะไรเป็นอะไร
วันนี้ (30 มิ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีองค์กรต่างประเทศทั้งสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์) และสหภาพยุโรป (อียู) เรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุมเหตุต่อต้านรัฐบาลว่า รัฐบาลไม่ได้มีปัญหากับใครไม่ว่าจะเป็นผู้เห็นแย้งหรือว่านักศึกษา แต่ถ้ามีการทำผิดกฎหมาย ต้องว่าไปตามกระบวนการ ทั้งทหาร ตำรวจหรือพลเรือน ต้องไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลยึดตามข้อกฏหมาย หากทำตามเสียงเรียกร้องจากองค์กรต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายก็จะเกิดลัทธิเอาอย่าง นักศึกษาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และยังมีการศึกษาค่อนข้างสูง ถือว่าเป็นปัญญาชน ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้เป็นกังวลว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจะขยายตัวออกไป เพราะเมื่อครั้งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาใหม่ๆ ก็มีเหตุการณ์ลักษณะนี้ ดังนั้นสังคมต้องตระหนักและร่วมกันคิดเพื่อที่จะเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยแบบเต็มใบ ที่สำคัญหากไม่หยิบยกสิ่งที่ไม่เป็นประเด็นมาเป็นประเด็น รับข่าวร้ายแล้วไม่ส่งต่อ ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง
ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเช่นกันว่า ยังไม่เห็นรายงานข้อเรียกร้องดังกล่าว ขณะนี้ต้องว่าไปตามหลักกฎหมายของเรา ทั้งนี้เชื่อว่ารายงานที่ออกมาไม่ถือว่าเป็นกดดันการดำเนินการของไทย เพราะถือว่าไปตามหลักการของเขา ส่วนเราก็ทำตามสถานการณ์ของเรา ทำตามกฎหมายและข้อเท็จจริงของเราที่เกิดขึ้น ส่วนเขาจะว่าอย่างไรเราก็ต้องมาหารือกัน ดังนั้น ต้องดูกฎหมายเราก่อนว่าเป็นอย่างไรก็ให้ว่าไปตามนั้น ทั้งนี้เชื่อว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องต่างๆจะไม่ขยายผลทำให้บานปลาย เพราะขณะนี้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ส่วนรัฐบาลก็ใช้มาตรการหลายด้านอย่างเหมาะสมที่จะแก้ไขปัญหา
“ขณะที่กลุ่มต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลัง ฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายข่าว ดูหมดทุกเรื่อง และมีข้อมูลที่ติดตามมาโดยตลอดเพราะฝ่ายข่าวทำงานเรื่องนี้มานานเป็น 10 ปี รู้ว่าอะไรเป็นอะไร” นายสุวพันธุ์กล่าว
มีรายงานว่า ช่วงเช้าสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN OHCHR ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกเเถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีอาญากับนักศึกษาที่ถูกจับกุมตัว หลังการชุมนุมอย่างสงบ และขอให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวทันที รวมถึงขอให้ทางการไทยทบทวนการใช้กฏหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุม ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทย ภายใต้กฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งมีพันธกรณีที่ต้องรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19) และสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ (ข้อ 21)
โดยสํานักงานข้าหลวงใหญ่ยังแสดงความกังวลว่าการดําเนินคดีอาญาที่มีโทษจำคุกยาวนานต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออกนั้น ถือว่าไม่มีความจําเป็น นอกจากนี้ เวลาผ่านไปกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งทางรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะนำหลักนิติธรรมกลับคืนมา แต่การจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานยังคงมีอยู่ต่อไป