อดีตประธานรัฐสภาติงศาล-องค์กรอิสระไม่เป็นอิสระ แสดงความเห็นก่อนเรื่องถึงมือ ชี้ล้ม รธน.แก้วิกฤตยิ่งวุ่น ฉะคนไทยดัดจริตไม่พูดตรงๆ ชี้ต้องแก้ทั้งระบบ ยก “ทักษิณ” พัฒนาคุณภาพชีวิต ปชช. ประชานิยมถ้าให้โอกาสก็ควรทำ อัดร่าง รธน.มองแต่ปัญหาเป็นกลุ่มนี้ แก้ไม่ได้ ย้อนคนดีวัดจากอะไร แขวะอ้างคุณธรรมคืนคนไร้คุณธรรม โวยยึดอำนาจแล้วล้างผิด ขัดหลักนิติธรรม หวังเป็นครั้งสุดท้าย
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “หลักนิติธรรมกับวาระการพัฒนาหลังปี ค.ศ. 2015 ผลกระทบต่อประเทศไทย” โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า ศาลเป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจึงต้องมีความเป็นอิสระจากการถูกกดดันของอำนาจอื่นๆ และอิสระจากอคติของตัวเอง ตนเห็นองค์กรอิสระไทยและศาลไทย บางเรื่องยังมาไม่ถึงหรือยังไม่ได้วินิจฉัยก็มีการแสดงความคิดเห็นออกมา แสดงว่าไม่ได้เป็นอิสระจากตัวเอง ถือเป็นส่วนที่ทำให้คนไม่เชื่อถือคำวินิจฉัยที่ออกมา บางคนไปไกลถึงขั้นที่ว่าเข้านอนแล้วอยากจะฝันว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างนี้ ผลก็ออกมาตรงเป๊ะ มันก็เป็นปัญหาว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะไปได้หรือ
นายโภคินกล่าวต่อว่า บ้านเราเมื่อมีวิกฤตแล้วมองว่าสามารถล้มรัฐธรรมนูญได้เพื่อแก้วิกฤต ทำให้ยุ่งไปเรื่อย ปัญหาอย่างหนึ่งคือ นิสัยคนไทยที่ดัดจริตไม่พูดตรงไปตรงมา ชอบพูดเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น สร้างวาทกรรมเสียดสีถากถาง แต่ไม่พิจารณาตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่คิดว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา กลับมองว่าปัญหาอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง คนใดคนหนึ่ง พรรคใดพรรคหนึ่ง ไปแก้ตรงนั้นแล้วคิดว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ ทั้งที่ต้องแก้ทั้งระบบ ก่อนหน้านี้ นักการเมืองหาเสียงด้วยการให้เงิน จากนั้นเปลี่ยนเป็นการพัฒนาท้องที่ แต่สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนวิธีคิดเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น การดูแลสุขภาพ และราคาพืชผล เป็นสิ่งที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ดี หรือรัฐธรรมนูญปี 2540 สร้าง พ.ต.ท.ทักษิณ แต่วิธีการมันเปลี่ยนไป ส่วนที่มีการโจมตีโครงการประชานิยมนั้น ถ้าเป็นการให้ทานก็ควรด่า แต่ถ้าเป็นการโอกาสเพื่อให้คนแข็งแรงขึ้นนั้นควรทำ
“ปัญหาต่างๆ ไม่ใช่จู่ๆ จะเปลี่ยนไปได้เลย เช่น ภาษีมรดก ที่มีคนออกมาค้าน มันต้องมีระบบกลไกที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป การแก้ปัญหาไม่ใช่จู่ๆ จะเปลี่ยนจาก ก. เป็น ข. ถ้าทำแบบนี้มีแต่ปัญหา ต้องค่อยๆ ทำไม่เช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้งทั่วประเทศ และสังคมไทยก็จะไม่พูดตรงไปตรงมา ถ้าบอกว่าฉันเป็นคนดีมีคุณธรรมสูง เธอเป็นคนไม่ดีอย่ามาบริหารบ้านเมือง วัดจากอะไรยังไม่รู้เลย และในลัทธิเต๋าบอกว่าคนที่พูดถึงคุณธรรมตลอดเวลาคือคนไม่มีคุณธรรม เพราะคนมีคุณธรรมจะไม่พูดให้คนอื่นรู้ ซึ่งคนที่เขียนรัฐธรรมนูญมองแต่ว่าปัญหาคือ ก. หรือกลุ่ม ก. มุ่งแต่จะแก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งมันไม่ใช่การแก้ปัญหา ถ้าไม่มี ก. มันจะมี ข.-ค.ขึ้นมา” นายโภคินกล่าว
นายโภคินกล่าวต่อว่า เรื่องการนิรโทษกรรมให้ตนเองนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่แปลกมาก และผิดหวังต่อศาลไทย เพราะการอภัยโทษครั้งแรกเกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และผู้ก่อการก็ได้ขออภัยโทษจากรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ปัจจุบันเมื่อมีการการล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้วเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าสิ่งที่ทำไปนั้นจะขอยกโทษให้ตนเอง ไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น หลักนี้อยู่มาได้อย่างไร 80 ปี แล้วยังรวมไปว่าการกระทำต่างๆ ไม่ว่าก่อนหรือหลังถือเป็นการชอบธรรม ถ้าเป็นเช่นนั้นจะขัดหลักนิติธรรมหรือไม่ ทำไมไม่มีใครออกมาพูดสักคน ตนคิดว่าเราต้องช่วยกัน และอีกประเด็น คือ ระหว่างความมั่นคงของชาติกับหลักนิติธรรม เราต้องเลือกอะไร ถ้าบ้านเมืองมีปัญหาจะล้มรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมไปก่อนแล้วสร้างใหม่ หรือจะให้กฎหมายที่มีอยู่แก้ปัญหาของตัวมันเอง ถ้าต้องเริ่มนับใหม่เหมือนที่ทำกันมา ตนมองว่าจะยิ่งสร้างปัญหา ขอให้การยึดอำนาจครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย