xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นชาวนา 22 จ.ลุ่มเจ้าพระยา เปิดศึกแย่งชิงน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย  ร่วมประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อ ติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใน 22 จังหวัด และผู้บริหารระดับสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จี้ ผู้ว่าฯ 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา เร่งสร้างความเข้าใจเกษตรกรชะลอปลูกข้าวนาปี ย้ำ “อย่าให้เกิดการแย่งชิงการใช้น้ำเกิดขึ้น” หวั่นขยายเพิ่มกระทบแผนจัดสรรน้ำ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งสำรวจหาช่องทางเสริมรายได้ช่วงรอฝน ด้าน ปภ.ออกประกาศ เตือน 20 จังหวัด รับมือฝนตกหนัก 17 - 21 มิ.ย. นี้

วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย ร่วมประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ใน 22 จังหวัด และผู้บริหารระดับสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายปีติพงศ์ กล่าวภายหลังประชุม ว่า ในวันนี้เราได้ขอความร่วมมือทางกระทรวงมหาดไทยไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพราะถือว่าเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานความมั่นคงที่สามารถช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของฝนที่มีความล่าช้า จึงทำให้มีข้อจำกัดทางด้านการทำการเกษตรที่มีพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 22 จังหวัด ที่ส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกข้าว

โดยได้มีการขอให้ทางผู้ว่าฯ ได้เข้าไปดูแลพื้นที่ 2 ประเภท คือ ประเภทแรก ที่ได้ปลูกข้าวไปแล้วประมาณ 3.4 ล้านไร่ ที่เป็นพวกได้ลงทุนลงแรงไปแล้ว เนื่องสภาวะที่ฝนไม่ตกทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนลดน้อยลง ในการคำนวณของเรามีพื้นที่ 3.4 ล้านไร่ ที่ปลูกไปแล้ว เราสามารถที่จะส่งน้ำไปช่วยเหลือได้ตรงนี้เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งที่ยังไม่ได้ปลูกส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาดอน ก็ได้ขอร้องให้ประชาชนได้เลื่อนเวลาเพาะปลูกไปปลายเดือน ก.ค. นี้ ก็เป็นไปตามทางผู้เชี่ยวชาญและนักอุตุนิยมวิทยาได้พิจารณากันแล้ว นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ยังไม่ได้เพาะปลูกเหลืออยู่ประมาณ 4 ล้านไร่

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่เราต้องให้เลื่อน เนื่องจากเราต้องรักษาพื้นที่ปลูกไปแล้ว กับพื้นที่ยังไม่ได้เพาะปลูก ไม่ให้เกิดความเสียหาย ให้เพียงพอกับจำนวนน้ำที่เรามีอยู่ขณะนี้ เราจึงขอร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้ปลูกไปแล้ว เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำมีน้อย ในการเพาะปลูกต้องมีการผลัดเปลี่ยนการใช้น้ำกัน ขออย่าให้เกิดการแย่งชิงการใช้น้ำเกิดขึ้น เพราะเราไม่อยากเห็นสภาพนี้ ถ้าประชาชนให้ความร่วมมือทำการเกษตรตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ก็จะสามารถรักษาพื้นที่เพาะปลูก 3.4 ล้านไร่เอาไว้ได้

ในส่วน 4 ล้านไร่ ที่เราขอให้ไปปลูกปลายเดือน ก.ค. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ไปสำรวจว่า จะมีการเสริมกิจกรรมการเพาะปลูกอะไรให้ประชาชนมีรายได้ ที่ไม่ใช่การเพาะปลูกข้าวอย่างเดียว แล้วยังมีมาตรการอื่นๆ ที่จะเข้าไปส่งเสริมอะไรอีก โดยที่เราไม่อยากกำหนดกิจกรรมเอง แต่อยากให้ชาวบ้านหรือประชาชนได้กำหนดอยากจะทำอะไร ซึ่งจะมีการประมวลให้เสร็จภายใน 1 - 2 สัปดาห์นี้ ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ ทางภาครัฐจะต้องทำหรือดำเนินการอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ขอเรียนย้ำว่า ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้มีอยู่ 22 จังหวัด แล้วที่เป็นปัญหาคือ ส่วนที่ได้ปลูกข้าวไปแล้ว กับส่วนที่ยังไม่ได้ปลูก เราจึงต้องมีมาตรการหลังเดือน ก.ค. จะต้องมีมาตรการอะไรเข้าไปเสริมหรือเปล่า ในกรณีที่ฝนตกหรือไม่ตก เพราะคงไม่มีใครรู้ได้ แต่ทางนักอุตุนิยมวิทยา และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย เชื่อว่าจะตกหลัง ก.ค. ไปแล้ว

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชี้แจงเกษตรกรให้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้ทุกคนประหยัดและทำตามที่รัฐบาลนิยม ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัย รัฐบาลมีมาตรการช่วยให้เกิดรายได้เสริมกับประชาชนขึ้นมาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งกำจัดวัชพืชและผักตบชวาที่ขวางทางน้ำด้วย

20 จังหวัด รับมือฝนตกหนัก 17-21 มิ.ย. นี้

วันเดียวกัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย ของจังหวัดปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และ กรุงเทพมหานคร ระวังฝนตกหนัก คลื่นลมแรง อาจทำให้น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน

เนื่องจาก กรมอุตุฯ รายงานมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ ทำให้บริเวณประเทศไทย มีฝนตกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และ กระบี่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 17 - 21 มิถุนายน 2558 บริเวณทะเลอันดามันตอนบนจะมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง โดย ระนอง มีเมฆมากและมีฝนฟ้าคะนองทั่วไป 80% ของพื้นที่และมีฝนตกหนักบางแห่ง.





กำลังโหลดความคิดเห็น