ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่ง เพิกถอน กฎกระทรวงข้อ 10 ที่ กระทรวงคมนาคม กำหนดให้รถยนต์รับจ้างแท็กซี่มิเตอร์ที่จะจดทะเบียนใหม่ ต้องใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV เท่านั้น หลังผู้ฟ้องปฏิเสธ จดทะเบียนใหม่กับรถยนต์แท็กซี่ที่ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ใช้เชื้อเพลิง NGV
วันนี้ (10 มิ.ย.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสํานักงานศาลปกครอง เรื่อง ศาลปกครองพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎ
ด้วยศาลปกครองสูงสุดได้มีคําพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๙-๑๐/๒๕๕๘ ระหว่างสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์รับจ้าง ที่ ๑ สหกรณ์แท็กซี่อิสระ จํากัด ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กับกระทรวงคมนาคม ที่ ๑ กรมการขนส่งทางบก ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี โดยพิพากษาเพิกถอน ข้อ ๑๐ ของกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป
จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘
ดิเรกฤทธ์ ิเจนครองธรรม
เลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง
มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2551 ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อ 10 ของกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนที่จะทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2550 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
กรณีที่สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) โดย นายวิเชฎฐ์ เทียนทอง ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคม และ กรมการขนส่งทางบก เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 2 ต่อศาลปกครองสูงสุด เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยออก กฎ คำสั่ง มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือ สร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร กรณีที่กระทรวงคมนาคม โดย นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ออกกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียน เขต กทม. พ.ศ.2550 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2550 ซึ่งมีเนื้อหาให้รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่) ต้องใช้เชื้อเพลิงประเภท ก๊าซ NGVเท่านั้น
ตามฟ้องระบุว่า กฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียน เขต กทม. พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2550 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2550 เมื่อได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับรถแท็กซี่มิเตอร์ ที่จดทะเบียนในกทม.
“โดยกฎกระทรวงข้อ 10 กำหนดให้รถยนต์รับจ้างแท็กซี่มิเตอร์ที่จะจดทะเบียนใหม่ ต้องใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV เท่านั้น ขณะที่รถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้เชื้อเพลิงระบบอื่นจะไม่สามารถจดทะเบียนได้ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 จึงปฏิเสธการจดทะเบียนกับรถยนต์แท็กซี่ที่ไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ใช้เชื้อเพลิง NGV”
โดยผู้ฟ้องได้รับผลกระทบจากการออกกฎกระทรวงอย่างมาก ทั้งในเรื่องปัญหาความไม่เพียงพอสถานี บริการ ซึ่งขณะนี้มีเพียง บมจ.ปตท เท่านั้นที่ผูกขาดเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียว นอกจากนี้ในการอัดเชื้อเพลิงเติมในถังยังใช้เวลานาน บางครั้งใช้เวลา 1 - 2 ชั่วโมงต่อการเติม 1 ครั้ง ซึ่งรถยนต์แท็กซี่ที่ได้จดทะเบียนไปก่อนที่กฎกระทรวงฉบับนี้จะประกาศใช้ส่วนมากจะเป็นผู้เช่ารถยนต์ขับ ซึ่งการเช่าแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ 06.00 - 18.00 น. และ 18.00 - 06.00 น. และโดยเฉลี่ยแล้วแท็กซี่ 1 คันใน 1 กะ วิ่งระยะทาง 300 กิโลเมตร ความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยู่ที่ก๊าซ 1 กิโลกรัมวิ่งได้ 7.5 กิโลเมตร ซึ่งถังก๊าซที่ใช้ในแท็กซี่มี 2 ขนาด คือ 100 กิโลกรัม วิ่งได้ระยะทาง 150 กิโลเมตร และขนาด 70 กิโลกรัม วิ่งได้ 112 กิโลเมตร เวลาขับ 1 กะ ต้องเติมก๊าซ 2 ครั้ง ซึ่งเสียเวลามาก
ผู้ฟ้องเห็นว่า เป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ประกอบกิจการรถแท็กซี่ ไม่ให้โอกาสผู้ประกอบการได้เลือกใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นที่เหมาะสม และยังเป็นกฎที่ออกมาขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพในการประกอบกิจการหรืออาชีพ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ออกกฎมาบังคับให้บุคคลส่วนมาก ให้ใช้เชื้อเพลิงที่มีผู้ประกอบการรายเดียวเป็นผู้ผลิต ซึ่งผู้ฟ้องเคยมีหนังสือถึง บมจ.ปตท. และผู้ถูกฟ้องที่ 2 เพื่อผ่อนผันหรือขยายเวลาแล้ว แต่ถูกปฏิเสธ ดังนั้น ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลปกครอง พิพากษายกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียน เขต กทม. พ.ศ.2550 ข้อ 10 ผู้ฟ้องยังยื่นคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ให้ระงับการบังคับใช้กฎกระทรวงข้อ 10 ดังกล่าวไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษาในคดีนี้ด้วย
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกกฎกระทรวงดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดให้รถยนต์รับจ้างที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2551 ที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับต้องมีและใช้ส่วนควบ และเครื่องอุปกรณ์ของรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัดเป็นเชื้อเพลิงหรือที่ใช้ร่วมกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีประมาณ 17,000 คัน นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์บรรทุกขนส่งสินค้า ขนส่งโดยสารขนาดใหญ่ และรถยนต์ส่วนบุคคล มีผลทำให้ปริมาณก๊าซไม่เพียงพอบริการแก่ผู้บริโภค อีกทั้งยังมีปัญหาสถานีบริการน้อย ไม่สมดุลกับรถยนต์ที่เข้าไปใช้บริการ ทำให้ต้องคอยเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ขับแท็กซี่ต้องเติมก๊าซถึง 2 ครั้ง ต่อการขับ 1 กะ ทำให้ได้รับความเดือดร้อยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริง
กรณีดังกล่าวจึงน่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์แท๊กซี่ ซี่งต้องหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ตลอดจนต้องชำระค่างวดรถยนต์ หากไม่สามารถนำรถยนต์ออกวิ่งรับผู้โดยสารได้ ก็จะทำให้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้พิจารณาถึงปัญหาที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับจากการบังคับใช้ข้อ 10 ของกฎกระทรวงดังกล่าวจึงเสนอขอแก้ไขโดยจะเลื่อนการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ประกอบกับเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า หากศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อ 10 ของกฎกระทรวงดังกล่าวไว้ก่อนในระหว่างการ พิจารณาคดีก็ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานหรือการบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง .