แพทยสภาปัดไร้อำนาจคุมค่ารักษา รพ.เอกชนแพง ชี้เป็นเรื่อง สบส.ต้องดูแล เผยคุมได้แต่ค่าธรรมเนียมแพทย์ มีคู่มือให้ศึกษา ชี้หากหมอเรียกเก็บเงินเกินสามารถฟ้องได้ มีโทษตั้งแต่ตักเตือนถึงเพิกถอนใบอนุญาต
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงกรณีเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เตรียมรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 ชื่อ เสนอต่อ รมว.สาธารณสุข เพื่อขอตั้งคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากมีราคาแพงและเหลื่อมล้ำ ว่า ค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชนมีหลายหมวด อยู่ในความดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ส่วนแพทยสภามีหน้าที่ดูแลและควบคุมเรื่องจริยธรรมและการประกอบวิชาชีพแพทย์อย่างถูกต้อง รวมถึงวางมาตรฐานควบคุมค่าธรรมเนียมแพทย์ ซึ่งกรรมการแพทยสภาและราชวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ ได้ประชุมกัน และได้ออกคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์มาตั้งแต่ปี 2544 หลังจากนั้นได้ปรับปรุงเพิ่มเติมในปี 2549 และใช้ต่อเนื่องในอัตราเดิมจนถึงปัจจุบัน ล่าสุด ปีนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัย เนื่องจากมีการรักษาใหม่ๆ และสาขาเชี่ยวชาญใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก
"ค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ ที่เรียกเก็บ อาทิ ค่ายา ค่าห้อง ค่าเครื่องมือ ฯลฯ อยู่นอกเหนืออำนาจตามกฎหมายของแพทยสภา แต่อยู่ในการควบคุมตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ของ สบส. อย่างไรก็ตาม การคิดค่าธรรมเนียมแพทย์สูงเกินความเหมาะสม มีข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2549 หมวด 4 ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อ 23 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ประกอบวิชาชีพโดยไม่คำนึงถึงความสิ้นเปลืองของผู้ป่วย จะมีโทษตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ ถึงเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เป็นต้น" รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ พ.ศ.2544 หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนั้น จะขึ้นอยู่กับวิชาชีพนั้นๆ เช่น การผ่าตัด หรือการทำหัตถการ หรือบริการตรวจรักษาใดๆ แต่ที่สำคัญห้ามเรียกเก็บซ้ำซ้อน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่