xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผยชงแก้ รธน. “บิ๊กตู่” ไม่ได้ท้วงนายกฯ คนนอก ส่วนใหญ่ติติงเขียนไม่ชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เผยนายกฯ ครม.ชงแก้รัฐธรรมนูญ 117 ประเด็น มีหลายระดับ ยัน “ประยุทธ์” ไม่ได้ท้วงนายกฯ คนนอก แต่ติงให้พลเมืองเสนอร้องทุกข์กรณีข้าราชการปฏิบัติกระทบเสรีภาพเขียนไม่ชัดทำซวยกันหมด หรืออย่างเปิดรับฟังความเห็นเรื่องแผนงานก็มีปัญหาต้องฟังอะไรบ้าง บอกที่ทักท้วงเพราะห่วงรัฐบาลหน้า ส่วนสภาขับเคลื่อนปฏิรูปต้องชัดมาจากไหนและทำอะไร และแยก กสม.กับผู้ตรวจฯ


วันนี้ (8 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.25 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชี้แจงต่อกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถึงข้อเสนอแนะปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เสนอแก้ไข 117 ประเด็น ที่บางเรื่องมีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง หรือบางเรื่องที่รัฐบาลอ่านแล้วไม่เข้าใจ แบ่งเป็นระดับรุนแรงที่ต้องแก้ ระดับกลาง และระดับจะแก้หรือไม่แก้ก็ได้ ดูแล้ว กมธ.ยกร่างฯ ก็เข้าใจ อย่างกรณีของนายกรัฐมนตรีคนนอก รัฐบาลไม่ได้ท้วงอะไรมากมาย ขณะที่มาตรา 62 ว่าด้วยพลเมืองย่อมมีสิทธิเสนอร้องทุกข์ มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันอาจมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของตน มันไม่ชัด ปฏิบัติไม่ถูกอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เคราะห์ดีเคราะห์ร้ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอาจติดคุกกันหมด หรือปลัดกระทรวงอาจโดนเด้งง่ายๆ

นายวิษณุกล่าวว่า อย่างเช่น แผนทั้งหลายต้องเปิดให้รับฟังทั่วถึง แต่ก็มีปัญหาว่าแผนอะไร เพราะในประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานก็มีแผนเยอะ และก็ต้องถามว่าบางทีเขาไม่เรียกแผน แต่อาจไปเรียกนโยบายจะต้องรับฟังความเห็นอีกหรือเปล่า หรือที่ระบุว่าทำอย่างทั่วถึง เป็นยังไง เพราะถ้าเกิดเราทำดีที่สุดแล้ว ถ้ามีคนหนึ่งบอกว่าไม่ทั่วถึง ยังไม่รู้เรื่องเลยจะทำยังไงถ้าเขาไปฟ้อง

นายวิษณุกล่าวว่า โดยสรุปคือตนไปทักท้วง เพราะเป็นห่วงรัฐบาลที่จะเข้ามา ไม่ได้เป็นห่วงตัวเอง เพราะไม่ได้อยู่ปฏิบัติสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะถ้าเกิดรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วทำไม่ถูกก็จะมาโทษรัฐบาลนี้ หรือพวกที่ปล่อยให้ผ่านมาซึ่งมีหลายมาตรา ส่วนเรื่องของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้น ตนไม่ได้มีการทักท้วงอะไร เพียงแต่ขอให้เขียนให้ชัดว่ามาจากไหน และทำอะไร ซึ่งถ้าจะมีสภาขับเคลื่อนฯ ไว้ทำการปฏิรูปก็ไม่ว่ากัน เพราะรัฐบาลใหม่และรัฐสภาใหม่ อาจต้องใช้สมาธิไปกับการทำเรื่องหลัก เราจึงห่วงว่าไม่มีใครมาทำเรื่องการปฏิรูป และอาจถูกกรอบของพรรคบีบจนคนเหล่านี้คิดอะไรไม่ได้ ส่วนกรณีขององค์กรอิสระที่เคยมีก็ยังมีอยู่ ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ให้แยกออกจากกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น