xs
xsm
sm
md
lg

“จเร” นำสื่อชมสภาใหม่ คืบแค่ 11.76% อ้างเหตุ น้ำท่วม-มอบพื้นที่ช้า คาดเสร็จปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เลขาฯ สภานำทีมพาสื่อชมสถานที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ที่ปรึกษาโครงการเผยคืบหน้า 11.76% หลังสร้างมากว่า 4 ปี รับการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า กระทบต่อแผนโครงการ 66.27% “จเร” ชี้น้ำท่วม 54 มีผลทำช้า ไม่มีข้อพิพาทในพื้นที่ ยัน อยู่ในงบ 1.2 หมื่นล้าน คาดเสร็จปี 60 รองเลขาฯ เผยอยู่ในการพิจารณายืดเวลาสร้าง ผจก.โครงการเผยล่าช้าไป 380 วัน ชี้กลางปี 59 ถึงเร่งรัดงานได้

วันนี้ (19 มิ.ย.) สถานที่ก่อสร้างโครงการอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ แยกเกียกกาย นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารได้ลงพื้นที่สถานที่ก่อสร้างโครงการอาคารรัฐสภาแห่งใหม่เพื่อติดตามความคืบหน้างานก่อสร้าง พร้อมพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมพื้นที่ดำเนินการ โดยก่อนการลงพื้นที่ นายโชติจุฑา อาจสอน ที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างฯ ได้รายงานความคืบหน้าของการก่อสร้างว่า จากผลดำเนินงานจนถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2558 มีความคืบหน้าของการทำงาน ทั้งสิ้น 11.76% โดยมีรายละเอียดงานก่อสร้างที่ดำเนินงานแล้วเสร็จสมบูรณ์ ได้แก่ 1. งานเสาเข็มเจาะ อาคารหลัก จำนวน 1,673 ต้น 2. งานเสาเข็มเจาะ Pile Wall จำนวน 1,222 ต้น 3. งานCapping Beam จำนวน 1,344 เมตร 4. งานพื้นเสา King Post จำนวน 2,236 ต้น 5. งานติดตั้ง Platfromจำนวน 5,443 เมตร และงานติดตั้ง Bracing Layer 1 จำนวน 29,208 เมตร ขณะที่ยังมีรายละเอียดงานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ดังนี้ (1. งานขุดและขนย้ายดิน จำนวน 10 ล้าน ลบ.ม. ทำไปได้ 7.8 แสน ลบ.ม.คิดเป็น 76 เปอร์เซ็นต์ (2. งานติดตั้ง Bracing Layer 2 จำนวน 6,301 เมตร ทำไปได้ 2,509 เมตร คิดเป็นความคืบหน้า 40 เปอร์เซ็นต์ (3. งานฐานรากอาคารหลัก จำนวน 910 ฐาน ทำไปแล้ว 512 ฐาน คิดเป็น 58% (4. งานพื้นชั้นใต้ดิน ชั้นบี 2 จำนวน 80,000 ตร.ม. ทำไปได้ 19,197 ตร.ม. คิดเป็น 24% (5. งานเสาชั้นใต้ดิน บี 2-บี 1 จำนวน 742 ต้น ทำไปแล้ว 388 ต้น คิดเป็น 53% และงานเสาชั้นใต้ดิน ชั้นบี 1 ถึงชั้นจี จำนวน 742 ต้น ทำได้ 62 ต้น คิดเป็นความคืบหน้า 9%

นายโชติจุฑากล่าวด้วยว่า สำหรับการทำโครงการ ยังมีพื้นที่ก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบให้ผู้รับจ้างดำเนินการอยู่จำนวน 20 ไร่ 1 งาน 28 ตร.ว.ซึ่งเป็นพื้นที่ของโรงเรียนโยธินบูรณะ, ชุมชนองค์การทอผ้า, บ้านพักกรมการอุตสาหกรรมทหาร (อท.ศอพท.) และพื้นที่ของ กทม. ที่เป็นที่ตั้งของศูนย์สาธารณสุข 38 และพื้นที่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต สำหรับกรอบเวลาการส่งมอบพื้นที่นั้น เบื้องต้นได้รับแจ้งจากผู้บริหารของโรงเรียนโยธินบูรณะ จะส่งคืนพื้นที่ได้ประมาณ เดือนสิงหาคม 2558, พื้นที่ของ กทม. จะส่งมอบได้เดือนกันยายน 2558 และชุมชนองค์กรทอผ้าฯ และบ้านพัก อท.ศอพท.จะส่งมอบได้ปลายปี 2558 นี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ที่คิดเป็นความล่าช้า จำนวน 408 วัน กระทบต่อแผนดำเนินโครงการฯ ที่ล่าช้าจากแผนดำเนินงานที่กำหนดไว้ คิดเป็น 66.27%

นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ถึงสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างล่าช้าว่า เกิดจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ทำให้หน่วยงานราชการในพื้นที่บริเวณก่อสร้างย้ายออกช้า ยืนยันว่าไม่มีปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่แต่อย่างใด ซึ่งการพิจารณาการขยายเวลาการก่อสร้าง และเหตุผลในการขยายเวลา รวมทั้งหาสาเหตุของความล่าช้า ทั้งนี้ยืนยันว่า งบประมาณยังจะอยู่ในวงกรอบวงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2560

นายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทผู้รับจ้าง คือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ส่งเรื่องเพื่อขอขยายเวลางานก่อสร้างออกไปจากเดิมที่สัญญาก่อสร้างจะเสร็จสิ้นภายในเดือน 24 พ.ย. 58 ออกไป ซึ่งขณะนี้ทางคณะกรรมการตรวจการจ้างอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่ออนุมัติ โดยการจะอนุมัติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามเหตุผลอีกครั้งหนึ่ง โดยจะยึดตามสภาพความเป็นจริง ทั้งนี้ การขยายเวลาดังกล่าวจะไม่กระทบต่องบประมาณก่อสร้างเดิมที่ได้อนุมัติไป อย่างไรก็ตาม ยอมรับปัญหาการส่งมอบพื้นที่ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้รับจ้างขอขยายเวลา

นายศุภโชค อรทัย ผู้จัดการโครงการก่อสร้างฯ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ระยะเวลาที่ขอขยายเวลาก่อสร้าง ได้ส่งไปตามระยะเวลาดำเนินการที่ล่าช้าอยู่ที่ 380 วัน สาเหตุใหญ่เป็นเรื่องของการส่งมอบพื้นที่ และการนำดินส่วนเกินออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาเล็กน้อยระหว่างการขุดดินได้พบระเบิดระหว่างขุดดินจำนวน 2 ครั้ง ในการเก็บกู้ดังกล่าวได้แจ้งให้กับกรมสรรพวุธเข้ามาเก็บกู้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่การดำเนินงานตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนวางฐานรากซึ่งใช้ระยะเวลามากถึง 14 เดือนจากเวลาตามสัญญาทั้งหมด 30 เดือน เนื่องจากต้องทำให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยตามแผนการวางฐานรากจะเสร็จสิ้นประมาณ พ.ย.ปี 58 จากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่การก่อสร้างในส่วนของตัวอาคารและอื่นๆที่เกี่ยวข้องประมาณกลางปี 59 ก็จะสามารถเร่งรัดงานได้ ทั้งนี้ ได้มีการเตรียมแรงงานที่จะใช้สำหรับการเร่งรัดไว้มากถึง 5,000-6,000 คน โดยมีทั้งคนไทยและต่างชาติ
































กำลังโหลดความคิดเห็น