สนช.ผ้านวาระ 3 พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ผู้ผลิต-นำเข้าเพื่อขาย ผู้รับจ้างผลิต ต้องจดแจ้งต่อ อย.พร้อมคุมเข้มห้ามโฆษณาเกินจริงหรือทำให้เกิดการเข้าใจผิด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (5 มิ.ย.) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ... หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ผู้ใดประสงค์จะผลิตเพื่อขาย หรือนำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง ต้องแจ้งรายละเอียดของเครื่องสำอางต่อผู้รับจดแจ้ง และเมื่อรับผู้รับจดแจ้งออกใบรับจดแจ้งแล้ว จึงจะผลิตหรือนำเข้าเครื่องสำอางนั้นได้ ซึ่งผู้รับจดแจ้งตามกฎหมายฉบับนี้หมายถึงเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)หรือผู้ซึ่งเลขาธิการ อย.มอบหมาย
นอกจากนี้ ในมาตรา 41 การโฆษณาเครื่องสำอางต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ได้แก่ 1. ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง 2. ข้อความที่จะก่อให้เกิดความใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม 3. ข้อความที่แสดงสรรพคุณที่เป็นการรักษาโรคหรือที่มิใช่จุดมุ่งหมายเป็นเครื่องสำอาง 4. ข้อความที่ทำให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบำรุงกาม 5. ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย 6. ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน และ 7. ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรานี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ สมาชิกได้ตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขในมาตรา 4 คำยาม “ผู้จดแจ้ง” ซึ่งคณะ กมธ.ได้แก้ไขให้หมายความว่า ผู้ได้รับใบรับจดแจ้งการผลิตเพื่อขาย หรือการนำเข้าเพื่อขายเครื่องสำอางตาม พ.ร.บ.นี้ จากเดิมที่กำหนดให้นิยามคำว่าผู้จดแจ้งครอบคลุมถึงผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางด้วย อาจมีผลให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองและเอาผิดผู้ที่ผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้คุณภาพ จึงเห็นควรให้คงนิยามคำว่าผู้จดแจ้งเอาไว้ตามเดิม ซึ่งเสียงข้างมากมีมติ 143 เสียงต่อ 14 เสียงให้กำหนดนิยามคำว่าผู้จดแจ้งให้ครอบคลุมถึงผู้รับจ้างผลิตเครื่องสำอางตามเดิม
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ 156 เสียงเห็นชอบในวาระ 3 ให้ร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอางได้รับการประกาศใช้ให้เป็นกฎหมาย