xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” แจง ราชทัณฑ์ดันพัก-ลดโทษ คดีหนักพิจารณาเข้ม พ้นคุก มท.ร่วมติดตาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม(แฟ้มภาพ)
สนช.ชงกระทู้ถามราชทัณฑ์เล็งใช้มาตราการพัก-ลดโทษนักโทษเด็ดขาด หวั่นพ้นโทษก่อคดีซ้ำ รมว.ยุติธรรมแจงแบ่ง 2 ประเภท ประพฤติดี-เลว ประเมินทุก 6 เดือน คดีหนักพิจารณารอบคอบกว่า เผยแบ่งการติดตาม 2 แบบ ตามโดย ยธ.กับ ตามอย่างรัดกุมโดย จนท.นอกกระทรวง รับปรับกฎหมายการติดตามดีขึ้น จับมือ มท.ดูแล ชั่งใจเรื่องจัดหางาน


วันนี้ (5 มิ.ย.) นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิคิบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งกระทู้ถาม รมว.ยุติธรรม เรื่องการพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ว่า การที่กรมราชทัณฑ์นำมาตรการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุกมาใช้กับนักโทษเด็ดขาดนั้น ส่งผลให้นักโทษเด็ดขาดได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำครบกำหนด จนสังคมโดยรวมกังวลว่านักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวจะกระทำผิดซ้ำและสร้างความเดือดร้อนอีกหรือไม่ โดยเฉพาะการปล่อยผู้ที่กระทำผิดอาญาร้ายแรงที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกเป็นระยะเวลาหลายสิบปี จึงขอถามว่า 1. กรมราชทัณฑ์มีการกำหนดคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพิจารณาพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุกหรือไม่ ประการใด และ 2. กรมราชทัณฑ์มีมาตรการติดตามและสอดส่งดูและความประพฤติของนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ ประการใด

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ตอบว่าการลดวันต้องโทษจำคุก กรมราชทัณฑ์มีเกณฑ์จำแนกผู้ต้องโทษจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ต้องโทษที่มีความประพฤติดีและความประพฤติเลว ซึ่งผู้ต้องโทษที่มีความประพฤติดีจะแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ดีมาก ดีเลิศ ดีเยี่ยม ซึ่งจะได้รับการพิจารณาลดวันต้องโทษตามระดับการประเมินดังกล่าวที่จะประเมินทุก 6 เดือน โดยกรณีที่เป็นผู้ต้องโทษอาญา อาทิ กระทำความผิดทางเพศ ชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ฯลฯ จะมีการพิจารณาโดยอาศัยข้อมูลอย่างรอบคอบมากกว่าผู้ต้องโทษคดีที่ไม่ร้ายแรง ซึ่งข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ผู้ต้องโทษคดีอาญาร้ายแรงมีจำนวนน้อยกว่าผู้ต้องโทษคดีที่ไม่ร้ายแรงอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ประเด็นของการพักโทษการติดตามผู้ต้องโทษจะติดตามใน 2 ลักษณะ คือ 1. ติดตามโดยกระทรวงยุติธรรม และ 2. ติดตามอย่างรัดกุมที่มีเจ้าหน้าที่นอกกระทรวงยุติธรรม อาทิ ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทยร่วมด้วย ทั้งนี้ยอมรับว่ากระบวนการติดตามผู้ต้องโทษที่ได้รับการพักโทษในปัจจุบันยังอ่อนแอ ทั้งแง่ของกฎหมายและกระบวนการติดตามในทางปฏิบัติ ฉะนั้นกระทรวงยุติธรรมจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการติดตามผู้ต้องโทษ เช่น การเก็บดีเอ็นเอของผู้ต้องโทษ โดยหลังถูกปล่อยตัวจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในการประเมินความประพฤติของผู้ต้องโทษซึ่งไม่เคยมีผู้รับผิดชอบมาก่อน ซึ่งไม่ใช่เพียงหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรม แต่กระทรวงมหาดไทยต้องร่วมมือด้วย เพราะผู้ต้องโทษเหล่านั้นจะกลับเข้าสู่สังคมในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปแนวคิดที่จะมีการจัดหางานให้กับผู้ต้องโทษเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ลดภาษีให้กับบริษัทที่รับผู้ต้องโทษที่ถูกพักโทษทำงานในบริษัทดังกล่าว เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น