อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
เกือบ 7 ปีแล้ว หลัง “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ และเจ้าตัวก็ไม่ยอมกลับมารับโทษ แถมยังให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศหลายต่อหลายครั้งในทางสร้างความเสียหายแก่ประเทศและสถาบันที่คนไทยเคารพรัก ...น่าแปลก ที่พฤติการณ์ของ “ทักษิณ” เข้าเงื่อนไขการถูกถอดยศและยึดคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างมิต้องสงสัย แต่เหตุใดกลับไม่มีรัฐบาลไหน หรือ ผบ.ตร. ยุคใด กล้าจัดการเรื่องนี้ แล้วสังคมจะฝากความหวังไว้ที่รัฐบาล และ ผบ.ตร. ยุคนี้ได้หรือไม่
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายงานพิเศษ : วัดใจ “ประยุทธ์ - สมยศ” จะกล้าถอดยศ - ยึดคืนเครื่องราชฯ “ทักษิณ” หรือไม่?
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 ซึ่งเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และจำเลยในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา เนื่องจากรู้เห็นเป็นใจและใช้ตำแหน่งนายกฯ เอื้อให้คุณหญิงพจมาน ภริยา ซึ่งเป็นจำเลยในคดีเดียวกัน ซื้อที่ดินดังกล่าว จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในราคาต่ำ
ทั้งนี้ ศาลฎีกาฯ ระบุว่า “ขณะนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ มีอำนาจบารมีเหนือรัฐมนตรี และมีอำนาจทางการเมืองสูง อีกทั้งฐานะการเงินมั่งคั่ง ซึ่งตามหลักธรรมาภิบาลแล้ว นายกฯ ภริยา หรือบุตร ไม่สมควรเข้าไปประมูลซื้อที่ดินดังกล่าว เพราะการซื้อได้ราคาต่ำ ส่งผลให้กองทุนฯ มีรายได้น้อยลง ขณะที่คุณหญิง พจมาน (จำเลยที่ 2) ก็มีผู้รู้จักจำนวนมาก ประกอบกับข้าราชการมีค่านิยมจำนนต่อผู้มีบารมีสูง นอกจากนั้น ยังอยู่ในฐานะที่อาจให้คุณให้โทษทางราชการได้ และเมื่อปรากฏว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้บัตรประจำตำแหน่งนายกฯ ลงนามยินยอมให้คุณหญิง พจมาน ทำสัญญาซื้อขายที่ดิน ย่อมถือได้ว่าเป็นการเข้าทำสัญญาด้วยตัวเองตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100(1) วรรคสาม ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่า การลงชื่อยินยอมเป็นเพียงการทำตามระเบียบราชการ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขายแต่อย่างใด องค์คณะจึงมีมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 100 (1) วรรคสาม และต้องรับโทษตามมาตรา 122”
ศาลฎีกาฯ ยังระบุเหตุผลที่ไม่รอการลงโทษจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยว่า “ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นนายกฯ ได้รับมอบหมายให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยกลับฝ่าฝืนกฎหมายทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคญยิ่ง จึงไม่สมควรรอการลงโทษ พิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี”
การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นถึงอดีตนายกฯ แต่กลับใช้ตำแหน่งนั้นในทางมิชอบด้วยการเอื้อประโยชน์ให้บุคคลในครอบครัว กระทั่งถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เหลือเครดิตอีกต่อไป โดยขณะนั้น ประเทศอังกฤษได้ประกาศถอนวีซ่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิง พจมาน ไม่ให้เดินทางเข้าประเทศ ขณะที่ในไทยเองก็เริ่มมีเสียงเรียกร้องว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้เสื่อมเสียเกียรติภูมิของตำแหน่งนายกฯ แล้ว เขายังสมควรจะได้ครอง “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” ที่ได้รับพระราชทานในฐานะนายกฯ อยู่อีกหรือ? ถึงเวลาที่จะต้องยึดคืนเครื่องราชฯ เหล่านั้นหรือยัง และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ครองยศตำรวจอยู่ แต่กลับประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ กระทำการมิชอบจนถูกศาลพิพากษาจำคุก เท่ากับนำความเสื่อมเสียมาสู่วงการตำรวจนั้น ยังสมควรจะครองยศ “พ.ต.ท.”อยู่อีกหรือไม่?
ซึ่งหากพิจารณาระเบียบ - กฎหมายเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ และการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะพบว่า กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าข่ายทั้งถูกถอดยศและยึดคืนเครื่องราชฯ อย่างมิต้องสงสัย
โดยระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ. 2547 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 สมัย พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำหนดเงื่อนไขการกระทำที่เข้าข่ายถูกเสนอถอดยศไว้ 7 ข้อ ประกอบด้วย (1) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม (2) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท (3) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต (4) กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ (5) ประพฤติชั่วร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ (6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ (7) ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ
ซึ่งชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าข่ายถูกถอดยศทั้งข้อ 2 และ 6 คือ ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 2 ปี และเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป
ส่วนการยึดคืนเครื่องราชฯ นั้น มีระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. 2548 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ในขณะเป็นนายกฯ เป็นผู้ลงนามเองเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2548 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 ส.ค. 2548) กำหนดเงื่อนไขไว้ 8 ข้อที่เข้าข่ายต้องเรียกคืนเครื่องราชฯ ประกอบด้วย (1) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ประหารชีวิต (2) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (3) เป็นผู้ต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
(4) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนหรือตามกฎหมายอื่น โดยคำสั่งอันถึงที่สุด (5) เป็นผู้ถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกเพราะกระทำผิดวินัยจากรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยคำสั่งอันถึงที่สุด (6) เป็นผู้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่เพราะมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย (7) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายทุจริตตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย (8) เป็นผู้ประพฤติตนไม่สมเกียรติหรือนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไปใช้ในกรณีไม่สมควร
ซึ่งชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าข่ายถูกเรียกคืนเครื่องราชฯ ทั้งข้อ 2 และ 3 เพราะต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2551 และถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2553 ให้ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จากกรณีซุกหุ้นชินคอร์ปและใช้ตำแหน่งหน้าที่นายกฯ เอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจชินคอร์ปของตระกูลตนเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ระเบียบและกฎหมายจะชัดเจนเพียงใดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องถูกถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชฯ แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาล ตั้งแต่รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ, รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ
เมื่อมาถึงยุครัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระแสถอดยศ และเรียกคืนเครื่องราชฯ ดังขึ้นอีกครั้ง หลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์สื่อที่เกาหลีใต้เมื่อไม่กี่วันมานี้ กล่าวหาว่า การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เกิดจากองคมนตรีร่วมมือกับทหาร และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ซึ่งคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เพียงให้ร้ายบุคคลหลายฝ่าย แต่ยังมีบางช่วงบางตอนที่อาจเข้าข่ายหมิ่นสถาบันด้วย จึงนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งในแง่หมิ่นประมาทและหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
กระทั่งกระทรวงการต่างประเทศได้ตัดสินใจเพิกถอนพาสปอร์ตของไทยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถืออยู่ 2 เล่ม เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา หลังจากพิจารณาแล้วว่า คำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศ รวมทั้งเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอาญาหลายมาตรา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ไปถามความคืบหน้าเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ จาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.อ.สมยศ บอกว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา มี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา(สบ10) เป็นประธาน และคณะกรรมการดังกล่าวได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ให้ถอดยศของ พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก และหลบหนีคดี ซึ่งเข้าเงื่อนไขถูกถอดยศตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นได้ส่งความเห็นให้ พล.ต.อ.สมยศ ในวันเดียวกัน
แต่ พล.ต.อ.สมยศ ได้ตีกลับความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าว โดยอ้างว่าคณะกรรมการยังไม่ได้ลงนามรับรองมติที่ให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงให้กลับไปลงนามรับรองก่อน ซึ่งต่อมา คณะกรรมการฯ ได้ประชุมยืนยันมติเอกฉันท์อีกครั้งให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ก่อนส่งเรื่องให้ พล.ต.อ.สมยศ เป็นรอบที่สอง
ขณะที่กระแสสังคมเริ่มจับจ้องท่าทีของ พล.ต.อ.สมยศ ว่า จะเห็นด้วยกับการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่คณะกรรมการมีมติหรือไม่ ซึ่ง พล.ต.อ.สมยศ พูดถึงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ว่า “อย่าเพิ่งมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าผมจะเซ็นให้หรือไม่ ผมมีวิจารณญาณมากพอ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาชี้นำ จะทำตามความเป็นธรรมและความถูกต้อง...”
พล.ต.อ.สมยศ บอกด้วยว่า หลังจาก พล.ต.อ.ชัยยะ ส่งเรื่องกลับมาแล้ว จะให้ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบข้อกฎหมายว่าถูกต้องตามข้อกฎหมายที่คณะกรรมการพิจารณาอ้างถึงหรือไม่ ก่อนส่งเรื่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการต่อไป และว่า ตนไม่ใช่ตรายางที่จะเอาแต่ปั๊ม ทุกคนมีสิทธิของตนเองที่จะปกป้อง ตนปกป้องสิทธิตนเองในการตรวจสอบให้รอบคอบ หากเซ็นไปแล้วเกิดปัญหาขึ้น คนที่โดนฟ้องคือตน และว่า ใน 4 เดือน หลังจากนี้ (เกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.2558) อยากลงจากตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยไม่ต้องขึ้นศาล
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. กล่าวถึงการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า หากเรื่องมาถึงตนเมื่อใดก็ทำให้วันนั้น อย่าไปยุ่งกันมาก ทุกเรื่องมีกฎของมัน เขาผิดรึเปล่า ถ้าผิดก็ว่าตามผิด ไม่เกรงใจใครทั้งนั้น กฎหมายคือกฎหมาย เกรงใจมากไม่ต้องทำอะไร ไม่ได้ หากไม่ทำก็จะหาว่าละเว้น ตนก็ไม่อยากจะละเว้นเพราะระเบียบมีอยู่แล้ว ส่วนการเสนอให้ยึดคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น ถ้าถอดยศก็ต้องยึดเครื่องราชฯ อยู่แล้ว และไม่เกรงว่าหากถอดยศ จะมีคนออกมาต่อต้าน เพราะกฎหมายคือกฎหมาย ขณะนี้ คสช. กำลังติดตามอยู่ ถ้าทำเกินเลยก็เรียกมาคุย และถ้าผิดกฎหมายก็เรียกมารายงานตัว
งานนี้ คงต้องลุ้นกันว่า ที่ พล.ต.อ.สมยศ บอกว่า “4 เดือนหลังจากนี้ อยากลงจากตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยไม่ต้องขึ้นศาล” นั้น มีนัยยะอะไรหรือไม่ หวังว่าคงไม่ใช่การประวิงเวลาให้การถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องยืดเยื้อออกไป เพื่อรอให้ตนเองเกษียณก่อน ในเมื่อระเบียบและข้อกฎหมายก็ชัดเสียยิ่งกว่าชัดขนาดนี้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บอกว่า “ผิดก็ว่าตามผิด ไม่เกรงใจใครทั้งนั้น และถ้าถอดยศก็ต้องยึดคืนเครื่องราชฯ” จะเป็นดังที่ท่านได้ลั่นวาจาไว้หรือไม่!!??