xs
xsm
sm
md
lg

หันมองบทเรียนจากอดีต ก่อนตั้งศูนย์ช่วยโรฮีนจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

การประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียของ 17 ชาติ ซึ่งอยู่ในกระบวนการบาหลี มีทั้งหมด 45 ประเทศ แต่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้โดยตรงเพียง 17 ประเทศ ประกอบด้วย

อัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย บังกลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ลาว มาเลเซีย เมียนมา นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และ ไทย โดยไทยเป็นเป็นเจ้าภาพจัดประชุมขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แม้ข้อสรุปในที่ประชุมวันนั้น ยังไม่เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐานของ “ชาวโรฮีนจา” อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ทว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายหันหน้ามามองปัญหาร่วมกัน

แต่ก็มีความพยายามกดดันไทยให้ตั้งศูนย์อพยพ หรือศูนย์พักพิงขึ้น เพื่อรองรับชาวโรฮีนจาก่อนจะเดินทางไปประเทศที่สาม ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีใครพร้อมยอมรับพวกเขามากน้อยแค่ไหน ในอดีตที่ผ่านมาไทยเคยได้ทำหน้าที่ในการช่วยตามหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด ตั้งแต่สงครามเวียดนาม ลาว และ เขมร ที่สู้รบกัน ทำให้มีประชากรของประเทศเหล่านี้ราว 3 ล้านคน ออกมาลอยเท้งเต้งเป็นมนุษย์เรือ เหมือนที่เรียกขาน “ชาวโรฮีนจา” อยู่ในขณะนี้ ทำให้ไทยในขณะนั้น ตั้งศูนย์พักพิงขึ้นเพื่อเป็นจุดพักของชาวลาว เขมร ม้ง เวียดนาม ก่อนจะเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามที่รอรับ ทั้ง อเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา ออสเตรเลีย เป็นต้น

และโดยเฉพาะกรณีที่มีการสู้รบกันในพม่า มีข้อตกลงให้ไทยได้ตั้ง “ศูนย์พักพิงชั่วคราว” ให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบ ซึ่งมี 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด คือ กาญจนบุรี ราชบุรี แม่ฮ่องสอน ตาก เป็นจุดที่ติดบริเวณชายแดนไทย - พม่า กระทั่งวันนี้เวลาล่วงเลยเกือบ 30 ปีแล้ว ศูนย์นี้ยังคงอยู่ กลายเป็นศูนย์ถาวร และเป็นภาระของประเทศไทย ปัจจุบันจากข้อมูลของผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ยังพบว่ามีผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนในประเทศไทยมีจำนวนเกือบ 113,300 คน และผู้ที่ลงทะเบียนขอลี้ภัยอีก 12,500 คน 

ของเก่ายังไม่หมดไป ยังมีของใหม่ต่อแถวเรียวคิวกันเข้ามาอีก

ดังนั้น อดีตที่ผ่านมา น่าจะเป็นบทเรียนในการที่ไทยจะทบทวนถึงข้อเสียในการตั้งศูนย์อพยพขึ้นในไทยได้ดีพอสมควร ถ้าไทยยอมรับที่ตั้งศูนย์พักพิงสำหรับ “ชาวโรฮีนจา” ขึ้นอีก จะมีปัญหาต่างๆ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น และจะมีปัญหาอื่นอีกตามมามากมายอย่างแน่นอน โดยเฉพาะปัญหาที่ไทยพยายามแก้ไขในการค้ามนุษย์ จะถูกสานต่อขึ้นทันที จากพวกที่จ้องฉวยโอกาส

เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสสนับสนุนให้มีการทำผิดกฎหมายโดยทางอ้อม เพราะจะมีโรฮีนจา ทะลักเข้ามาเป็นลูกค้าอย่างดีให้กับพวกนายหน้าหัวใสที่คอยหากินอย่างผิดกฎหมาย สำหรับชาวโรฮีนจาเป็นชีวิตรันทดที่ขอตายเอาดาบหน้าอยู่แล้ว จึงพร้อมจะยอมรับข้อเสนอจากพวกที่มาวาดอนาคตที่สวยงามกว่าให้อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน จำนวนประชากรของชาวโรฮีนจา ไม่สามารถขึ้นทะเบียน หรือระบุชัดๆ ได้ ว่า มีจำนวนมากน้อยเท่าใด ไม่สามารถพิสูจน์โดยหลักฐานใด มีเพียงใบหน้าแขกที่เป็นมุสลิม ซึ่งหน้าแขกก็มีหลายประเทศทั้ง อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะคัดกรองว่า ใครเป็นโรฮีนจา ของแท้หรือใครของปลอม

เพราะจะมี “คนหน้าแขก” จากประเทศต่างๆ ที่ยากจน จะใช้โอกาสนี้เพื่อได้ไปในประเทศศิวิไลซ์ กลายเป็นว่า ไปเพิ่มจำนวนประชากรโรฮีนจา ให้เพิ่มขึ้นมาอีกจากพวกสวมรอย เพิ่มภาระปัญหาให้ทวียิ่งขึ้น

ถ้าหากว่าไทยคิดจะตั้งศูนย์พักพิงขึ้นจริง ถ้าคิดในแง่ว่า ให้พักชั่วคราว แต่ถ้าหากไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีโรฮีนจาคนตกหล่นตกค้าง ไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศที่สามต่อได้ แล้วถึงตอนนั้นผลักดันให้ออกจากไทย เป็นคงยาก สุดท้ายไทยต้องแบกภาระรับไว้ และให้อยู่ในประเทศเหมือนกับศูนย์พักพิงชั่วคราวใน 9 แห่งอย่างนั้นหรือ ไทยก็จะตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนอดีตที่ผ่านมา

ถ้าทบทวนจากอดีตที่ผ่านมา ไทยคงไม่เหมาะที่จะรับหน้าที่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวขึ้น เพราะปัญหาเดิมที่คั่งค้างมา 30 ปี เราก็ยังไม่สามารถจะจัดการปัญหาให้ไปในทางที่คลี่คลายได้ ดังนั้น การจะรับ “โรฮีนจา” เพื่อช่วยเขา เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าในระยะยาวเราสามารถช่วยเขาให้มีชีวิตที่ดีกว่าอย่างปรารถนาได้จริง ไม่อย่างนั้น 9 ศูนย์พักพิงชั่วคราวคงหมดไปแล้วในประเทศไทย
 
แม้จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่อาจกลายเป็นปัญหาระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น