“ประยุทธ์” แจงน่านน้ำไทยต้องลาดตระเวนต่อเนื่อง เชื่อทุกประเทศมีปัญหาอพยพ พร้อมหนุนนานาชาติใช้เศรษฐกิจพอเพียงแก้ยากจน เผยให้ความสำคัญช่วยเหลือ SME แต่ต้องดูความพร้อม ดูเกณฑ์การช่วยเหลือ เน้นผู้ที่มีความพร้อมและเข้มแข็ง ระบุต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง รับปีเดียวทำไม่ได้ โต้รัฐไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงิน แต่ต้องพูดเรื่องภาษีเพราะเป็นรายได้ประเทศ
วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ในที่ประชุมได้มีการรายงานถึงผลการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อวันที่ 29 ที่ผ่านมา โดยการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาอพยพมีความชัดเจนขึ้น จากการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ไปร่วมประชุม Shangri-La Dialogue ครั้งที่ 14 ที่ประเทศสิงคโปร์ ทางสหรัฐอเมริกาและประเทศใหญ่ๆ ก็พอใจในการทำงานของประเทศเรา และคงจะต้องไปว่ากันต่อในเรื่องของคดีความขบวนการค้ามนุษย์ เชื่อว่าจะทำให้ปัญหาการอพยพแบบผิดปกติจะลดจำนวนลง และเวลานี้ก็ลดลง โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำทั้งเครื่องบิน และเรือออกลาดตระเวนก็ไม่พบเรือเพิ่มเติม อาจเป็นเพราะช่วงนี้เป็นฤดูมรสุม อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในเรื่องนี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัยและดีขึ้น ไม่ใช่แค่ภายใน 2 สัปดาห์นี้แล้วจะจบ ยังต้องมีการคุยกันอีก ว่าจะพัฒนาช่วยเหลือต้นทางกันอย่างไร รวมถึงการดูแลผู้ที่ติดค้าง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า โดยปัญหานี้ทางยุโรปและอเมริกาก็มี รวมถึงประเทศที่ห่างไกลก็มีข่าวจับผู้มีปัญหาอพยพกว่า 4 พันคน ปัญหาเหล่านี้มีทุกที่ในโลก ตราบใดที่มีคนจนก็ต้องมีความขัดแย้ง และจะมีผู้นำความขัดแย้ง และมีการหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อหางานทำเพราะคนเราต้องหาสิ่งที่ดีกว่า อยู่ในประเทศไม่ได้ก็ต้องไปที่อื่น ฉะนั้นจะแก้ปัญหาแต่ละประเทศอย่างไร แก้ด้วยศึกสงครามอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องดูเรื่องเศรษฐกิจและการพัฒนาต่างๆ และรัฐบาลไทย เวลาไปไหนก็จะนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ไปเผยแพร่ ทุกประเทศเองก็พอใจตรงนี้ โดยล่าสุดได้นำไปแสดงที่สหประชาชาติ ประเทศหมู่เกาะก็พอใจและชื่นชมแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกอย่างในประเทศไทยกับสายตาคนต่างประเทศดีหมด ยกเว้นคนไทยด้วยกัน
พล.อ.ประยุทธ์ยังเผยต่อว่า วันนี้ได้ติดตามงานที่ได้สั่งการไปแล้วทั้งการบริหารงานของแต่ละกระทรวงและการบริหารงานตามนโยบายที่ตนได้สั่งการไปและต้องเร่งรัดให้เร็วขึ้น นอกจากนี้มีการหารือถึงการเบิกจ่ายงบประมาณที่หลายส่วนมีปัญหา เนื่องจากเบิกจ่ายไม่ได้ เพราะความไม่พร้อมของเจ้าของกิจการก่อสร้างต่างๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยมีการแบ่งงบประมาณอย่างทั่วถึงแบบนี้ จึงมีเพียงไม่กี่บริษัทที่รับงานไป แต่วันนี้พยายามกระจายงบประมาณไปทุกพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดการสร้างความเข็มแข็งให้กับภาคประชาชนทุกมิติ ทั้งอุตสาหกรรมใหญ่ กลาง เล็ก และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพิเศษ และนำโซเชียลบิสิเนสเข้ามาร่วมด้วยและห่วงโซ่ที่มีควาเชื่อมโยงไปต่างประเทศ วันนี้ภาคเอกชนเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ภาคเกษตรกรยังไม่มีทางเลือกตนจึงสั่งเร่งรัดในการช่วยเหลือด้านนี้อยู่ โดยเฉพาะเรื่องสหกรณ์ต่างๆ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังหารือถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งมีอยู่ประมาณ 2.6 ล้านราย จดทะเบียนนิติบุคคลประมาณ 6 แสนราย และอยู่ในระยะภาษีเงินได้ประมาณ 1 ล้านราย อีก 5-6 แสนรายก็ยังไม่อยู่ในระบบ มีเพียงรายชื่ออยู่ในบัญชีเท่านั้น ซึ่งการสนับสนุนเอสเอ็มอีจะให้สนับสนุนทั้งหมดคงไม่ได้ จึงต้องไปสนับสนุนกิจกรรมที่มีคุณค่า สามารถเดินหน้าได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องปรับเปลี่ยน ยืนยันว่าเราให้ความสำคัญซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีบางส่วนก็ได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ไปแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความมั่นคง แต่ส่วนที่ยังมีปัญหาที่ยังอ่อนแออยู่ก็ได้ให้ สสว. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และเอสเอ็มอีแบงก์ช่วยเหลือ
“ต้องยอมรับว่าบางเอสเอ็มอีก็ยังมีปัญหาหนี้สิน กู้ไปแล้วก็ไม่รู้จะผ่อนได้หรือไม่ จะมาบอกว่ารัฐบาลไม่ดูแลไม่ได้ ถ้าจะให้กู้เปล่าๆ ก็แจกเงินให้เลยไม่ดีกว่าหรือ เพราะเอาเงินไปก็ไม่ได้คืน และธุรกิจก็จะล้มลงด้วย ซึ่งถือเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูป วันนี้ผมปฏิรูปให้ไม่ได้หรอก ปีเดียวผมทำทุกอย่างไม่ได้หมด ประเทศเขาไม่ได้สร้างกันวันเดียวเมื่อไหร่เล่า วันนี้มีทั้งความเข้มแข็ง มีทั้งความขัดแย้ง โครงสร้าง การบริหารราชการเยอะไปหมด ถ้าดูเผินๆ ก็เหมือนไม่มีอะไร ถ้าลงไปลึกๆ จะรู้ว่าบ้านเมืองมีปัญหาอะไร ความมั่นคงมันไม่มี แต่พูดมากไม่ได้ ประเทศเสียหาย ผมขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้พยายามเต็มที่ในการสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนธุรกิจทุกประเภทให้อยู่ในกรอบที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เหมือนสมัย 40 ปัญหาฟองสบู่ ทุกคนอยากลงทุนหมด แต่ถามว่าลงทุนไปแล้ว ล้มไปเท่าไหร่ ใครได้ประโยชน์และรัฐบาลนี้พยายามไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น วันนี้เรียนว่ารัฐบาลไม่ได้มีปัญหาการเงิน รัฐบาลไม่มีเงินหรือไง จึงพูดถึงเรื่องภาษี เพราะรัฐบาลต้องพูดถึงเรื่องภาษีบ้างพูดเรื่องการค้า การลงทุนบ้าง ถ้ารัฐบาลพูดเรื่องภาษีไม่ได้เลย มันจะได้อย่างไร เพราะภาษีเป็นส่วนหนึ่งของรายได้รัฐ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ประเทศเรามีเงินสำรองที่มากพอสมควร เราคงเอามาใช้ไม่ได้ แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในประเทศ ส่วนเงินคงคลังเมื่อมีการหมุนเวียนก็สามารถหามาจนได้ แต่ปัญหาคือหนี้สินที่ไม่มีคุณค่าเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็ต้องหาวิธีการบริหารหนี้เหล่านี้ ซึ่งประชาชนกังวลว่าจะต้องแบกรับภาระ 20-30 ปี ซึ่งตนก็ต้องร่วมแบกรับด้วย เพราะต้องเสียภาษีเช่นกัน ทั้งนี้ตนพยายามที่จะไม่สร้างภาระเพิ่มขึ้น ส่วนวิธีทางกฎหมายก็ต้องฟ้องร้องผู้ที่กระทำไว้ซึ่งมีขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่ใช่จะละเว้นและให้ประชาชนมาใช้หนี้ สื่อต้องเขียนให้ครบทั้งระบบไม่ใช่เขียนแค่ว่าต้องแบกภาระ 20-30 ปี แต่ไม่ฟังสิ่งที่พูดต่อว่าทางกฎหมายต้องมีการฟ้องร้องไตร่สวนทางแพ่งอยู่แล้ว
“เอสเอ็มอีไม่ต้องกังวล ถ้ามั่นคงและมีโอกาส เขาก็ให้ท่าน แต่ปัญหาอยู่ที่เอสเอ็มอีที่แข็งแรงไปธนาคารพาณิชย์หมดแล้ว เหลือแต่เศษ ถามว่าถ้าให้เงินไปพันล้าน หมื่นล้านมันจะแข็งแรงไหม ท่านต้องแสดงความเข้มแข็ง และถ้าหนี้มันเสียจะทำอย่างไร รับผิดชอบได้หรือไม่ เขากำลังทำอยู่ ผมสั่งการไปแล้ว มันต้องมีหลักเกณฑ์ เหมือนให้เพื่อนยืมเงิน 10 ครั้งแล้วไม่ใช่คืน แล้วจะให้ยืมอีกหรือไม่” นายกรัฐมนตรีกล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาสว่า จะเป็นการเชื่อมต่อวัตถุดิบในประเทศและส่งต่อไปยังธุรกิจประเทศเพื่อนบ้านเช่นตุรกี บรูไน อินโดนีเซีย ซึ่งตนได้มีการพูดคุยกับผู้นำประเทศเหล่านี้แล้ว และเป็นการดูแลพี่น้องชาวอิสลามด้วย แต่คงจะไม่ใช่รายใหญ่ที่สุดในโลก เพราะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่เรามีวัตถุดิบ ต้นทุนจำนวนมากทั้งที่ผลิตเองและส่งต่อวัตถุดิบด้วย