xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ แจงทูตสหประชาชาติ 12 ชาติ คาดหากทำประชามติจะมีเลือกตั้ง ก.ย. 59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ 12 ประเทศ เข้าคารวะนายกฯ ตามโครงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรของไทย “ประยุทธ์” แจงการเมืองไทย คาดเลือกตั้งได้กันยายน 2559 หากมีทำประชามติ ยันไม่แทรกแซง ย้ำกำลังสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ หวังการมีส่วนร่วมจะป้องกันความขัดแย้งและพวกหัวรุนแรงได้



วันนี้ (27 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จากประเทศต่างๆ จาก 12 ประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยตามโครงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรของประเทศไทย (Friends of Thailand) ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประเทศเหล่านี้เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทย วัฒนธรรม แนวความคิด นโยบาย และบทบาทของไทยในด้านสันติภาพและความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนา ซึ่งเป็นสามเสาหลักของงานสหประชาชาติ คณะเอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติจาก 12 ประเทศ ประกอบไปด้วย แอนติกาและบาร์บูดา บุรุนดี สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คอโมโรส สาธารณรัฐโดมินิกัน กาบอง กานา ฮังการี คิริบาส นาอูรู แคเมอรูน และวานูอาตู

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณคณะเอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรฯ ที่มาเยือนประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นการเยือนครั้งแรกสำหรับหลายท่าน โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่าทุกคนจะได้ใช้โอกาสนี้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและวัฒนธรรมไทย ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สถานการณ์ทางการเมืองไทย

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมาและความจำเป็นที่ต้องเข้ามาบริหารประเทศ จนกระทั่งถึงปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและความคืบหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่างฉบับแรกให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติม จากนั้นจะนำเสนอร่างที่แก้ไขใหม่ให้สภาปฏิรูปเห็นชอบ หากจะต้องมีการทำประชามติ กำหนดการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไป คาดว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกันยายนปี 2559

พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ทั้งนี้ การดำเนินการทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามขั้นตอน โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่ายและแทรกแซง และขอยืนยันว่าไม่ได้ต้องการอยู่ในตำแหน่งและไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ แต่ต้องอดทนเพื่อประเทศชาติ ซึ่งที่ผ่านมา ความขัดแย้งต่างๆ ทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องเข้ามาดูแล และขอย้ำว่าประเทศไทยกำลังสร้างระบบประชาธิปไตยที่ยั่งยืนซึ่งจะต้องมีระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจรัฐที่มีประสิทธิผล โดยมุ่งมอบอำนาจให้แก่ประชาชน ส่งเสริมธรรมาภิบาลและความโปร่งใสบทบาทไทยในกรอบพหุภาคี

พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความสัมพันธ์และทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติเมื่อปี 2489 โดยร่วมทำงานอย่างครบถ้วนทั้งสามเสาหลักของสหประชาชาติ คือ การเมืองและความมั่นคง การพัฒนา และสิทธิมนุษยชนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาระดับกลาง ประเทศไทยต้องทำงานอย่างหนักเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมความเคารพสิทธิมนุษยชน และการรับมือกับภัยคุกคามดั้งเดิมและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ประเทศไทยเชื่อมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และพร้อมเสมอที่จะทำงานกับทุกประเทศในฐานะหุ้นส่วน นอกจากนี้ ไทยเชื่อมั่นในนโยบายที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และสร้างความเข้มแข็งในทุกเสา คือ ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ-ความกินดีอยู่ดี และด้านสังคมวัฒนธรรม โดยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก โดยหลักการนี้ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศ และเช่นเดียวกันกับในกรอบสหประชาชาติ คือ ทุกประเทศที่มีความแตกต่างต้องพัฒนาไปพร้อมกัน ไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัก

รองโฆษกรัฐบาลระบุว่า นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง คลองเปรม ของคณะเอกอัครราชทูตฯ ว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความพยายามที่จะตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเองเชื่อว่าผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้นได้ในทุกขั้นตอนของปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ ไม่ว่าเรื่องการป้องกันความขัดแย้ง การแก้ไขความขัดแย้ง การรักษาสันติภาพ และไทยสนับสนุนวาระเรื่อง สตรี สันติภาพและความมั่นคงของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ไทยยังให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมของประชาชน ซึ่งรัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนยุติธรรม เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่คนจนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในสังคมไทย ประเทศไทยเชื่อมั่นในการป้องกันความขัดแย้ง และให้ความสำคัญกับนโยบายที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

พล.ต.วีรชนกล่าวว่า การพัฒนาที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมและยั่งยืนจะต้องเสริมด้วยการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคง และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไทยเชื่อมั่นอย่างจริงจังว่านโยบายที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจะช่วยป้องกันความขัดแย้งและการขยายอิทธิผลของกลุ่มหัวรุนแรง โดยประเทศไทยหวังจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือกับมิตรประเทศต่างๆ ในเวทีสหประชาชาติ และสนับสนุนกันในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันได้ โดยไทยยืนยันที่จะร่วมมือและปฏิบัติตามพันธกิจต่างๆ ภายใต้กรอบสหประชาชาติอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการส่งเสริมสันติภาพ การส่งเสริมบทบาทสตรี การเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือเพื่อจัดการภัยพิบัติ และความร่วมมือด้านอาหาร ตลอดจนการเข้าถึงน้ำสะอาด เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติต่อไปในอนาคต













กำลังโหลดความคิดเห็น