รอยเตอร์/เอเอฟพี - สถานการณ์ในบุรุนดีตกอยู่ในภาวะสับสนอลหม่าน หลังนายพลรายหนึ่งแถลงเมื่อวันพุธ (13 พ.ค.) ขับไล่ประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคูรันซิซา ที่แสวงหานั่งเก้าอี้สมัย 3 อย่างไม่ชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ เผยกำลังร่วมมือกับกลุ่มประชาสังคมจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน แต่ทางผู้นำยังไม่ยอมจำนน รุดเดินทางกลับจากร่วมซัมมิตแอฟริกาและอ้างว่าความพยายามรัฐประหารล้มเหลว
แม้พบเห็นฝูงชนหลั่งไหลขึ้นไปบนท้องถนนในกรุงบูจุมบูรา ส่งเสียงเชียร์และยิงปืนเฉลิมฉลองภายในตัวเมือง แต่ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีผู้ให้การสนับสนุนมากน้อยแต่ไหนต่อการก่อรัฐประหารที่นำโดย พล.ต.โกดโฟรอิด ไนโยเอ็มบาเร ซึ่งเพิ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ทำเนียบประธานาธิบดีของเอ็นคูรันซิซา รุดออกมาปฏิเสธคำแถลงของ พล.ต.ไนโยเอ็มบาเรในทันที
“เรามองว่ามันเป็นเรื่องตลก ไม่ใช่รัฐประหาร” นายวิลลี ไนยามิตเว ผู้ช่วยประธานาธิบดีบอกกับรอยเตอร์ ส่วนถ้อยแถลงบนหน้าเฟซบุ๊กของประธานาธิบดีระบุว่าความพยายามก่อรัฐประหารนั้นล้มเหลว ขณะเดียวกันก็มีคำยืนยันจากโฆษกรัฐบาลแทนซาเนียระบุว่า ประธานาธิบดีเอ็นคูรันซิซา ที่อยู่ระหว่างร่วมประชุมฉุกเฉินระดับภูมิภาคร่วมกับผู้นำชาติต่างๆ ในแทนซาเนียได้บินด่วนกลับบุรุนดีในทันที หลัง พล.ต.ไนโยเอ็มบาเรแถลงรัฐประหาร
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมานายพลไนโยเอ็มบาเร ได้สั่งปิดท่าอากาศยานในกรุงบูจุมบูรา รวมถึงแนวชายแดนทางภาคพื้น เพื่อสกัดความพยายามบินกลับประเทศของประธานาธิบดีเอ็นคูรันซิซา “ผมออกคำสั่งปิดสนามบินและชายแดน และขอเรียกร้องพลเมืองทุกคนและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไปยังนามบินเพื่อปกป้องมัน” เขาแถลงผ่านสถานีวิทยุ
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ไนโยเอ็มบาเร ได้ประกาศยึดอำนาจกับบรรดาผู้สื่อข่าว ณ ค่ายทหารแห่งหนึ่งในกรุงบูจุมบูรา หลังเกิดการประท้วงยืดเยื้อมานานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อต่อต้านความพยายามแสวงหาหนทางคืนสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีเป็นสมัย 3 ของนายเอ็นคูรันซิซา
ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเวลานี้อำนาจอยู่ในมือของฝ่ายใด แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตอนนี้สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นเป้าหมายสำคัญลำดับต้นๆ ของการยึดอำนาจรัฐในแอฟริกาถูกล้อมกรอบโดยทหาร โดยพนักงานรายหนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่าพวกทหารพยายมบุกเข้าไปภายใน แต่ถูกขัดขืนจากคนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ยังคลุมเครือก็มิอาจยับยั้งฝูงชนที่พากันออกมาร้องเพลงเต้นรำเฉลิมฉลองบนท้องถนน บางส่วนก็นั่งบนหลังคารถยนต์ ด้านผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่าตำรวจซึ่งเป็นเกลียดชังของผู้ประท้วงจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมและถูกมองว่ามีความภักดีต่อพรรคการเมืองของนายเอ็นคูรันซิซา แทบจะไม่ปรากฏตัวให้เห็นเลย
“เมื่อพิจารณาถึงความจองหองของประธานาธิบดีเอ็นคูรันซิซาและจากการที่เขาท้าทายประชาคมนานาชาติ ซึ่งแนะนำให้เขาให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญและข้อตกลงสันติภาพอารูชา ดังนั้นเพื่อสถาปนาความปรองดองในชาติ ประธานาธิบดีเอ็นคูรันซิซาจึงถูกขับไล่และรัฐบาลของเขาก็เช่นกัน” พล.ต.ไนโยเอ็มบาเรแถลง ขนาบข้างด้วยเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจระดับอาวุโสหลายนาย ในนั้นรวมถึงอดีตรัฐมนตรีกลาโหม พร้อมเผยว่าเขากำลังร่วมมือกับกลุ่มประชาสังคมต่างๆ เหล่าผู้นำทางศาสนาและการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน
มีประชาชนมากกว่า 20 รายต้องสังเวยชีวิตนับตั้งแต่การประท้วงบนท้องถนนปะทุขึ้นในประเทศแห่งนี้เมื่อกว่า 2 สัปดาห์ก่อน โดยผู้ชุมนุมอ้างว่านายเอ็นคูรันซิซา ละเมิดรัฐธรรมนูญและข้อตกลงสันติภาพของประเทศ ซึ่งจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีไว้ที่ 2 สมัย แต่ศาลวินิจฉัยว่าสมัยแรกของนายเอ็นคูรันซิซานั้นไม่นับ เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ถูกเลือกโดยสมาชิกรัฐสภา นำมาซึ่งเสียงกล่าวหาจากฝ่ายค้านที่โจมตีศาลว่าลำเอียง
ด้านเหล่าผู้นำแอฟริกาตะวันตกที่กำลังประชุมกันในกรุงดาร์-เอส-ซาลาม ในแทนซาเนีย ประณามความพยายามก่อรัฐประหารในบุรุนดี ซึ่งเกิดขึ้ในระหว่างพวกเขาและนายเอ็นคูรันซิซา กำลังหารือกันเกี่ยวกับเหตุประท้วงรุนแรงที่ยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์ในบุรุนดี
“ที่ประชุมของประณามรัฐประหารในบุรุนดี มันไม่ช่วยแก้ปัญหาเลย” ประธานาธิบดีแทนซาเนีย กล่าวในช่วงท้ายของการประชุมฉุกเฉิน 1 วันของสมาชิก 5 ชาติ ประชาคมแอฟริกาตะวันออก (EAC) อันประกอบด้วยเคนยา, รวันดา, แทนซาเนีย, ยูกันดา และบุรุนดี “เราขอเรียกร้องให้คืนสู่การปกครองตามรัฐธรรมนูญ”
นายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องความสงบในบุรุนดีตามหลังเกิดความพยายามก่อรัฐประหาร ส่วนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ยืนยันว่ามีรัฐประหารเกิดขึ้นหรือไม่ แต่บอกว่ากำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่ทำเนียบขาววิงวอนฝ่ายต่างๆ วางอาวุธ