เอพี / เอเจนซีส์ / MGR online - มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 รายจากเหตุรุนแรงระลอกล่าสุด ที่เกิดขึ้นกลางกรุงบูจุมบูรา เมืองหลวงของบุรุนดีในคืนวันเสาร์ (21 พ.ย.) ทั้งนี้เป็นการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันอาทิตย์ (22)
กรุงบูจุมบูรา เมืองหลวงของบุรุนดี มีอันต้องเผชิญกับภาวะไร้ขื่อแป และตกอยู่ภายใต้คลื่นแห่งความรุนแรงต่อเนื่องมาตั้งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่ประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคูรุนซิซา พยายามดิ้นรนหาทางเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 3 ถึงแม้บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศจะห้ามผู้นำบุรุนดีดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ จนสร้างความไม่พอใจของประชาชนและสมาชิกฝ่ายค้าน ซึ่งนำไปสู่การเกิดเหตุรุนแรงตามท้องถนน ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านประธานาธิบดี รวมถึงความพยายามยึดอำนาจของกองทัพซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลว
ด้านมัวเซ เอ็นคูรุนซิซา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติบุรุนดี ออกมาเปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวล่าสุดว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 4 รายล่าสุดจากเหตุรุนแรงในกรุงบูจุมบูรานั้น มีอยู่ 3 รายที่เสียชีวิตในพื้นที่เขตเอ็นกาการา ทางตอนเหนือของเมืองหลวง ส่วนผู้เสียชีวิตอีกรายหนึ่งถูกพบเป็นศพอยู่ที่เขตกันโยชาทางตอนใต้ของกรุงบูจุมบูรา
โดยนอกจากผู้เสียชีวิตจำนวน 4 รายดังกล่าวแล้ว ทางตำรวจบุรุนดียังยืนยันการจับกุมผู้เข้าร่วมก่อเหตุรุนแรงได้อย่างน้อย 28 ราย ตลอดทั้งคืนวันเสาร์ (21) ที่ผ่านมา ท่ามกลางรายงานข่าวการได้ยินเสียงปืนและเสียงระเบิดตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงบูจุมบูราตลอดทั้งวัน รวมถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นภายในอาคารที่ทำการบรรษัทจ่ายไฟฟ้า และน้ำประปาของรัฐบาลด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารบุรุนดีพยายามเดินหน้าปลดอาวุธในหมู่พลเรือน ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายที่ต่อต้านประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคูรุนซิซา เพื่อหวังให้สถานการณ์ภายในประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว แต่กองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลกลับถูกกล่าวหาว่า กระทำการสังหารหมู่และละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนแบบไม่เลือกหน้า จนทำให้ประชาชนบุรุนดีจำนวนไม่น้อยเริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทางการเมืองในบุรุนดีไปแล้วอย่างน้อย 240 รายนับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุนองเลือดที่สุดของบุรุนดี นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ระหว่างปี 1993-2006 ที่ทำให้มีชาวบุรุนดีเสียชีวิตไปกว่า 300,000 ราย
ที่ผ่านมากลุ่มเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลออกโรงกล่าวหารัฐบาลบุรุนดีว่า ทำการปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ที่มีการลุกฮือของประชาชนออกมารวมตัวกันตามท้องถนนเพื่อแสดงพลังขัดขวางความพยายามของประธานาธิบดีปิแอร์ เอ็นคูรุนซิซา ที่พยายามอยู่ในอำนาจต่อเป็นสมัยที่ 3 หลังขึ้นครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2005 ทั้งที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศ ก่อนที่ตัวเขาจะดื้อดึงลงสมัครรับเลือกตั้งและคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ถูกระบุว่าเต็มไปด้วยกลโกงและเรื่องฉ้อฉล
รายงานข่าวระบุว่า ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลบุรุนดีได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติและอีกหลายองค์กรทั่วโลกให้เร่งสอบสวนเอาผิดกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความ มั่นคงของตนที่ก่อเหตุสังหารและทรมานประชาชน รวมถึงการกระทำของตำรวจที่อยู่เบื้องหลังการจับตัวประชาชนด้วยข้อหาทางการเมือง