xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาล คสช.ฝันระดมทุน 1.41 ล้านล้านบาท ไฟเขียว “แผน PPP 5 ปี”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
รัฐบาล คสช.ฝันระดมทุน 1.41 ล้านล้านบาท ไฟเขียว แผน PPP 5 ปี “ร่างยุทธศาสตร์เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ” แบ่งโครงการเป็น 2 กลุ่ม ใน 20 กิจการ จำนวน 65 โครงการ เน้นรถไฟฟ้า ระบบคมนาคม โครงข่ายโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบจัดการมูลฝอย พร้อมทั้งการลงทุนโครงการด้านสังคมอีกหลายโครงการ

วันนี้ (26 พ.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2558-2562 ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) เสนอเพื่อสนับสนุนให้เอกชนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและขนส่งสาธารณะ โดยแบ่งโครงการเป็น 2 กลุ่ม ใน 20 กิจการ จำนวน 65 โครงการ โดยทั้ง 20 กิจการคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ราว 1.41 ล้านล้านบาท และเกิดความเชื่อมโยงใน 3 ระดับ

มีรายงานว่า สำหรับกิจกรรมที่เอกชนสามารถเข้าร่วมลงทุนกับรัฐบาล ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 กิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt-out) จำนวน 6 กิจการ คือ กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง จำนวน 8 โครงการ ประมาณการเงินลงทุน 5.68 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1. กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง จำนวน 1 โครงการ 1.28 หมื่นล้านบาท 2. กิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า จำนวน 7 โครงการ 1.32 แสนล้านบาท 3. กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง จำนวน 2 โครงการ 2.34 แสนล้านบาท 4. กิจการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม จำนวน 2 โครงการ 4.76 หมื่นล้านบาท 5. กิจการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน 1 โครงการ 2 หมื่นล้านบาท

กลุ่มที่ 2 กิจการที่รัฐส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Opt-in) จำนวน 14 กิจการ คือ กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง จำนวน 4 โครงการ ประมาณการเงินลงทุน 2.27 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1. กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้า จำนวน 4 โครงการ 2.1 หมื่นล้านบาท 2. กิจการพัฒนาระบบตั๋วร่วม จำนวน 1 โครงการ 600 ล้านบาท 3. กิจการพัฒนาธุรกิจและบริหารพื้นที่ท่าอากาศยาน 4. กิจการพัฒนาระบบจัดการคุณภาพน้ำ จำนวน 7 โครงการ 5.1 หมื่นล้านบาท 5. กิจการพัฒนาระบบชลประทาน 6. กิจการพัฒนาระบบจัดการมูลฝอย จำนวน 1 โครงการ 3.5 พันล้านบาท 7. กิจการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ จำนวน 8 โครงการ 2.88 หมื่นล้านบาท

8. กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข จำนวน 3 โครงการ 7.1 พันล้านบาท 9. กิจการพัฒนาด้านยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 3 โครงการ 194 ล้านบาท 10. กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จำนวน 6 โครงการ 3.88 หมื่นล้านบาท 11. กิจการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอล จำนวน 5 โครงการ 1.48 หมื่นล้านบาท 12. กิจการพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ จำนวน 1 โครงการ 2.7 พันล้านบาท 13. กิจการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส จำนวน 1 โครงการ 14. กิจการที่เกี่ยวข้องกับ Digital Economy

มีรายงานว่า ก่อนหน้านั้นกระทรวงการคลังได้สัมมนารับฟังความคิดเห็นการกำหนดประเภทและลักษณะของกิจการที่สมควรให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน ดังนี้ 1. กิจการที่ต้องมีเอกชนร่วมลงทุน (Opt-out) จำนวน 6 กิจการ ประกอบด้วยกิจการต่อไปนี้

1.1 กิจการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง
1.2 กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง
1.3 กิจการพัฒนาท่าเรือขนส่งสินค้า
1.4 กิจการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง
1.5 กิจการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม
1.6 กิจการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

2. กิจการที่รัฐควรส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุน (Opt-in) จำนวน 15 กิจการ ประกอบด้วยกิจการต่อไปนี้

2.1 กิจการพัฒนาสถานีขนส่งบรรจุแยกและกระจายสินค้า
2.2 กิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางระหว่างเมือง
2.3 กิจการบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม
2.4 กิจการพัฒนาธุรกิจและบริหารพื้นที่ท่าอากาศยาน
2.5 กิจการพัฒนาและบริหารระบบจัดการคุณภาพน้ำ
2.6 กิจการพัฒนาและบริหารจัดการระบบชลประทาน
2.7 กิจการพัฒนาระบบกำจัดมูลฝอย
2.8 กิจการพัฒนาสถานศึกษาของรัฐ
2.9 กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
2.10 กิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข
2.11 กิจการบริหารจัดการยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์
2.12 กิจการพัฒนาศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ (Convention Center)
2.13 กิจการพัฒนาท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานของรัฐ
2.14 กิจการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักคนจน คนชรา ผู้ด้อยโอกาส
2.15 กิจการที่เกี่ยวข้องกับ Digital Economy


กำลังโหลดความคิดเห็น