xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.สนช.รับถ้าทำประชามติกระทบโรดแมป คสช.แน่ หากไม่ผ่านจะทำอย่างไรให้ ปชช.พอใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้เสร็จก่อน 6 ส.ค.ให้ทันรับรอง สปช.เห็นชอบ รับไร้อำนาจแก้เพิ่มเว้นแต่ ครม.หรือ คสช.เห็นด้วย แต่ประชามติกระทบโรดแมปแน่ แนะโหวตต้องสะท้อนความคิดเห็นชาวบ้านให้มากที่สุด และหากไม่ผ่านจะทำอย่างไรให้พอใจ แต่ไม่อยากพูดมาก กลัวหาว่าล้ำเส้น แต่เตือนให้ดูของปี 50 ผ่านการโหวตก็อยู่ได้ไม่นาน แต่ร่างใหม่แล้วประชาชนพอใจก็ไม่ต้องทำประชามติก็ได้



วันนี้ (21 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่ ครม.และ คสช.มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวเพื่อให้มีการลงมติในร่างรัฐธรรมนูญว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีบัญญัติให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 46 ซึ่งเท่าที่ฟังความเห็นของ คสช.และ ครม.แก้ไขเพียงจุดเดียวคือการทำประชามติเท่านั้น ทั้งนี้ ตามกำหนด สปช.จะต้องให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 สิงหาคม จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดให้ทำประชามติให้เสร็จก่อนเดือนสิงหาคม เพื่อให้มีกฎหมายรองรับก่อนที่สปช.จะเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้ ครม.และคสช.กำลังยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเพื่อเสนอให้ สนช. ซึ่งการพิจารณาของ สนช.จะต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว รัฐบาลจะต้องคำนวณเวลาเสร็จให้ทัน เนื่องจาก สนช.มีเวลาในการพิจารณาเพียง 15 วัน โดย สนช.ไม่มีอำนาจขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ เว้น ครม.หรือ คสช.ต้องเห็นด้วย

นายพรเพชรกล่าวต่อว่า สำหรับการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการทำประชามติจะต้องคำนึงและให้คำตอบว่าจะดำเนินการ มีวิธีการ และหลักเกณฑ์อย่างไร และหลังผลของประชามติออกมาจะใช้หลักเกณฑ์อย่างไร และถ้าประชามติไม่ผ่านจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะฉะนั้นการทำประชามติจะต้องมีผลกระทบต่อโรดแมปแน่นอน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน โดยส่วนตัวตนเห็นว่าการทำประชามติต้องสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของประชาชน นอกจากนี้หากประชามติไม่ผ่านจะต้องคำนึงว่าทำอย่างไรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นที่พอใจของประชาชนมากกว่าที่ไม่ผ่านประชามติ เพราะฉะนั้นการทำประชามติต้องกำหนดไว้มากกว่ารับหรือไม่รับร่างเท่านั้น แต่ตนไม่อยากให้ความเห็นเพราะจะกลายเป็นการชี้นำ รอให้มีตุ๊กตาออกมาก่อน เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าล้ำเส้น

เมื่อถามว่า ในฐานะที่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเหตุใดจึงไม่ได้กำหนดการทำประชามติ นายพรเพชรกล่าวว่า ไม่มีหลักประกันอะไรในการทำประชามติ เพราะที่ผ่านมาเราเคยทำประชามติในปี 2550 แล้ว แต่อยู่ไม่นานและก็ใช้ได้ไม่กี่ปี น้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ทำประชามติ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับโรดแมปของ คสช. ถ้ากำหนดการทำประชามติก็อาจจะไปไกลกว่าโรดแมปเดิมซึ่งเราก็ได้ระวังในจุดนี้ และคิดว่าหากรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจของประชาชนได้สะท้อนความคิดเห็นก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ได้ประมาทก็ได้เปิดช่องไว้ในมาตรา 46 ซึ่งก็ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอื่น




กำลังโหลดความคิดเห็น