xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยไร้หัว-ปชป.ยังรวนเปิดทาง “ประยุทธ์” จัดระเบียบอีกพักใหญ่!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

เห็นภาพ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เดินไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีรับจำนำข้าวโดยมิชอบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเธอปฏิเสธข้อกล่าวหาพร้อมสู้คดี และขอประกันตัวชั่วคราวซึ่งศาลฯ ก็อนุญาต แต่มีคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

นั่นก็หมายความว่านับจากนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องติด “บ่วงกรรม” นี้ไปโดยสมบูรณ์แล้ว ส่วนจะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์นานเท่าไหร่นั้น นาทีนี้ยังคาดเดายาก แต่เอาเป็นว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1-2 ปีแน่นอน

นี่คือวิบากกรรมอันแสนสาหัส ที่เชื่อว่าตัวเธอเองก็คาดไม่ถึง และไม่นึกว่าจะต้องมาเจอกับสภาพแบบนี้ และด้วยระดับมันสมองและความคิดของเธอที่ผ่านการสังเกตมาในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็พอสรุปได้ว่าทุกอย่างถูกจัดวางเอาไว้ให้ตามเส้นทางที่เริ่มเดินล้วนถูกออกแบบมาให้ และคนที่ออกแบบก็คือ “พี่ชาย” ของเธอเองที่ได้รับคำเสนอแนะจากบรรดา “กุนซือ” รอบตัวที่ได้รับประโยชน์เจือจานกลับมา

ที่ผ่านมาเธอถูกถอดถอนและถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แน่นอนว่าเมื่อมีประวัติแบบนี้เส้นทางการเมืองข้างหน้าก็ตีบตัน อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาดังกล่าว นี่ยังไม่นับเรื่องคดีในศาลฎีกาฯ ซึ่งเป็นคดีอาญาเสี่ยงคุกตะราง รวมไปถึงในอนาคตยังอาจต้องเจอฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งตามมาอีก นี่คือเส้นทางในปัจจุบันที่ต่อเนื่องไปถึงอนาคต

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาเชื่อมโยงไปถึงพรรคเพื่อไทยก็ต้องยอมรับความจริงว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูก ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย “เชิดให้มาเป็นหัว” ให้มาเป็วตัวแทนทุกอย่าง ทั้งรักษาอำนาจ รักษาผลประโยชน์ได้สารพัด และที่สำคัญนั่นคือ “ไว้ใจได้”

อย่างไรก็ดี เมื่อสภาพเป็นแบบนี้ พรรคเพื่อไทยเมื่อ “ขาดหัว” นั่นคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกล็อกด้วยผลกรรมจากคดีความ ทำให้ตัวเลือกที่ถึงอย่างไรก็ยังถือว่า “ดีที่สุด” สำหรับพวกเขามีปัญหาขึ้นมาทันที ภายในเริ่มระส่ำระสาย เพราะตัวเลือกใหม่ที่จะนำมาเป็นหัวขบวนยังหาไม่ได้ แม้ว่าจะจะมีบางคนเช่น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จะอาศัยช่วงชุลมุนเสนอตัวขึ้นมา แต่มันตกยุคตกรุ่น กลายเป็นว่ามีแต่เรื่องตลกขบขันแบบฮาไม่ออก มันก็เลยต้องฝ่อไปเอง

สรุปก็คือ เมื่อหัวไม่มี ภายในระส่ำระสาย ก็ย่อมไม่มีความพร้อมสำหรับการเข้าสู่สนามเลือกตั้งหากมีขึ้นภายในปีหนัา

อีกด้านหนึ่งหันมาพิจารณาในพรรคประชาธิปัตย์กันบ้าง แม้ว่ารวมๆ แล้วไม่ถูกกระทบมากนัก นอกเหนือจากการถูกสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองชั่วคราว แต่ในนามแล้วตัวหัวหน้าพรรค คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังอยู่ รวมไปถึงคณะกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ บรรดาผู่อาวุโสก็ยังอยู่ แต่ที่น่าสังเกตก็คือการแตกตัวออกไปเป็นกลุ่ม กปปส.ภายใต้การนำของ พระสุเทพ ประภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแม้ว่าล่าสุดมีการประกาศออกมาแล้วว่ากลุ่มที่เคยแตกตัวออกไปดังกล่าวจะกลับมารวมตัวกันใหม่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ หากมีการเลือกตั้งครั้งหน้า มีเพียง พระสุเทพ เท่านั้นที่เคยลั่นปากเอาไว้แล้วว่าจะวางมือทางการเมือง จะหันไปสู่ภาคประชาชน

ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศออกมาล่วงหน้าว่าหากมีการเลือกตั้งก็พร้อมที่จะลงอีก แต่ขอเป็นครั้งสุดท้าย หากพ่ายแพ้ไม่ได้เป็นนายกฯ ก็จะวางมือทางการเมือง นั่นก็หมายความว่านี่คือการ “เดิมพันครั้งสุดท้าย” แบบหมดหน้าตัก

อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจสภาพในประชาธิปัตย์เวลานี้แม้ว่าอาจจะเหนือกว่า เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจ แต่ถึงอย่างไรก็ยังเหลื่อมกันไม่มาก หรือยังอยู่ในสภาพสูสี ได้เท่านั้น ยังไม่ถือว่าโดดเด่นเห็นชัด ดังนั้นถ้าให้สรุปแบบรวมๆแล้วสภาพก็ไม่ได้ต่างกัน

ขณะที่ในฟากของกลุ่มอำนาจในปัจจุบัน คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นาทีนี้ยังถือว่ายัง “แข็งแกร่ง” ยังไม่พลาด ความศรัทธา ยังลดลงไม่มาก และด้วยบุคลิกส่วนตัวยังสามารถยืนระยะได้อีกพักใหญ่ และเมื่อพิจารณาจากเสียงเรียกร้อง “ตามหลักการ” ในแนวทางสร้างความชอบธรรมที่ต้องการให้มีการทำประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มันก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างต้อง “ทอดยาว” ออกไปอีกโดยอัตโนมัติ อย่างน้อยก็นานอีกนับปี ประกอบกับสภาพไม่พร้อมของบรรดาพรรคการเมือง และความเสื่อมศรัทธาของสังคมยังมีอยู่สูง จึงเป็นใจให้ภารกิจการจัดระเบียบบ้านเมืองได้เดินหน้าต่อไปอีกแบบวิน-วิน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น