มติ คทช. ไฟเขียวลดอัตราค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดินไร่ละ 50 บาทต่อปี เหลือไร่ละ 25 บาทต่อปี พร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียมปลูกป่าเศรษฐกิจชุมชนไร่ละ 10 บาท เข้า อปท. ก่อนเล็งจัดเก็บไร่ละ 100 ต่อปี สั่งตรวจสอบข้อเสนอ “กลุ่มพรีมูฟ” 58 แปลง หากพบเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ต้องทำความเข้าใจก่อนหาพื้นที่ใหม่ภายหลัง ด้าน “บิ๊กตู่” สั่งทำแผนระยะยาวจัดสรรที่ดินให้คนไร้ที่ทำกิน
วันนี้ (18 พ.ค.) มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2558 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาลเพื่อติดตามความคืบหน้าในการทวงคืนที่ดินและการจัดสรรที่ดินให้กับประชาชน
ต่อมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติอัตราค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์ที่ดินของราษฎรจากเดิมไร่ละ 50 บาทต่อปี เหลือไร่ละ 25 บาทต่อปี และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ คทช. เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย
ส่วนค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าทดแทนนั้น มอบหมายให้กรมป่าไม้จัดหาเมล็ดของต้นไม้ที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ราษฎรที่ใช้ประโยชน์ จัดทำแปลงเพาะชำ และดูแลกันเอง โดยให้กรมป่าไม้เป็นผู้แนะนำ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของราษฎรและภาครัฐ
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติให้เก็บค่าธรรมเนียมปลูกป่าเศรษฐกิจชุมชน โดยจัดเก็บไร่ละ 10 บาท โดยรายได้จะเข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ในเรื่องป่าเศรษฐกิจชุมชนจะต้องเก็บค่าตอบแทน ไร่ละ 100 ต่อปี ซึ่งจะมีมาตรการการจัดเก็บเป็นระยะ เพื่อให้มองว่าราษฎรปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม คทช. ได้มีการรายงานผลการดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมายตามที่ คทช. ได้ดำเนินการแล้วไปเสร็จ ในพื้นที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และเตรียมที่จะดำเนินการตามพื้นที่เป้าหมายในระยะต่อไป ช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม โดยมีพื้นที่ในป่าสงวนแห่งชาติลุ่มแม่น้ำฝาง ป่าสงวนแห่งชาติท่าทาง และป่าสงวนแห่งชาติแม่ตาล พื้นที่รวมกว่า 9,164 ไร่
อย่างไรก็ตาม จากการทำงานที่ผ่านมา มีราษฎรบางพื้นที่ มีความต้องการในเอกสารสิทธิรายบุคคล ซึ่งรัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจชี้แจงต่อไป โดยย้ำว่าจะดำเนินการในลักษณะดังกล่าวไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะราษฎรเกิดการเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ ก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ในขณะที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มพรีมูฟ ในการเรียกร้องให้ออกโฉนดชุมชน มีความสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลในโครงการของ คทช. โดยล่าสุด กลุ่มพรีมูฟได้เสนอมาแล้วกว่า 58 แปลง ซึ่งต้องมีการตรวจสอบต่อไป แต่หากเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ก็ต้องทำความเข้าใจว่า มีความจำเป็นต้องหาพื้นที่ใหม่ภายหลัง
ทั้งนี้ ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืน พร้อมมอบหมายให้กระทรวงเกษตรเข้าถึงแหล่งเงินทุน ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่ดินในการประกอบการกู้เงินได้ และหามาตรการการป้องกันการสวมสิทธิ์ในการนำไม้จากป่าภายนอกเข้ามาสวมสิทธิ์ในพื้นที่ป่าชุมชน พร้อมทั้งจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้กับพื้นที่ที่จะเข้าร่วมโครงการ
ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนที่จะจัดสรรที่ทำกินให้ประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศต้องมีหลักการอนุมัติแผนใหญ่ และมีการสำรวจตามขั้นตอน พบว่า ยังมีคนที่ยังไม่มีที่ทำกินประมาณ 3 แสนกว่าราย แต่ในระยะ 1 และ 2 สามารทำได้เพียงไม่กี่หมื่นคน
ดังนั้น เรื่องการจัดโซนนิงเพาะปลูกการเกษตรให้สอดคล้องกับห่วงโซ่อาหาร และส่วนหนึ่งของคนทำเกษตรจะต้องออกไปทำอาชีพอื่นบ้าง อาจจะไปทำอุตสาหกรรมขนาดเบา แปรรูปผลผลิตต่างๆ ที่สำคัญต้องวางในระยะยาวให้รัฐบาลต่อไป ซึ่งรัฐบาลไม่มีเงินหรือพื้นที่ที่จะให้ทุกคนตามความต้องการได้
“วันนี้มีเนื้อที่ทำการเกษตรรวม 320 ล้านไร่ทั้งประเทศ โดย 147 ล้านไร่ ทำการเกษตรเป็นนาร้อยละ 70 และใน 147 ล้านไร่นี้อยู่ในพื้นที่ชลประทานร้อยละ 40 อีกร้อยละ 60 ไม่อยู่ในพื้นที่ชลประทาน ตรงนี้จะต้องไปหาอาชีพอื่นให้เขาหรือไม่”.