xs
xsm
sm
md
lg

23 ปี พฤษภาทมิฬ! หวังคลอดประชาธิปไตยให้ ปชช.มีส่วนร่วมได้ - 4 สาวโผล่โวยไม่รับร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รำลึก 23 ปี พฤษภาทมิฬ “หม่อมปนัดดา” มาแทนรัฐบาล รอง ปธ. สนช, “สปช. เอกชัย” “รสนา - ประสาร - จตุพร - ชำนิ - องอาจ - พระอุทัย” และ ทูตสวิส ร่วมงาน ประธานจัดงาน หวังรัฐประหารงวดนี้จะสามารถคลอดประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงได้ ย้ำอำนาจต้องมาด้วยสันติวิธี รมต.สำนักนายกฯ บอกนายกฯ เข้าใจประชาธิปไตยคือความรักสามัคคี ด้าน 4 สาวกลุ่มเมล็ดพริกโผล่ป่วนด่า “บวรศักดิ์” เนติบริกรตัวพ่อ ลั่นไม่รับร่าง รธน.







วันนี้ (17 พ.ค.) ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้จัดพิธีรำลึกและสืบสาน 23 ปี พฤษภาประชาธรรม โดยมีการวางพวงมาลา ทำพิธีบรรจุอัฐิวีรชน ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม และพิธีทอดผ้าบังสุกุลแด่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่วิญญาณของผู้ล่วงลับ และร่วมเสริมสร้างความเป็นมงคลให้สังคมไทย สามารถข้ามพ้นความขัดแย้งที่รุนแรงในอดีต รวมทั้งพิธีทางศาสนาคริสต์ และอิสลาม นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการรับบริจาคเลือดให้กับสภากาชาดไทยด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเสียเลือดเพื่อให้ชีวิต แทนการเสียเลือดเสียชีวิต โดยมีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ตัวแทน สนช. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะตัวแทนประธาน สปช., น.ส.รสนา โตสิตระกูล นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พระอุทัย อุทาโย หรือ นายอุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) รวมทั้งนางคริสทีน ซาลาเนอร์ เบอร์เดอร์เนอร์ เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย

โดย น.ส.รสนา ในฐานะประธานจัดงาน กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของวีรชนในเหตุการณ์เดือนพฤษภา เพราะต้องการปฏิรูประบบการเมืองไม่ให้เกิดการครอบงำ โดยหวังว่าการเลือกตั้งจะนำไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ไม่ให้กลับสู่การรัฐประหาร แต่ในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่สวนทางกัน เพราะในเวลาต่อมาเกิดการรัฐประหารอีก 2 ครั้ง ซึ่งเกิดจากความเห็นต่างของประชาชน 2 ขั้ว จนนำไปสู่การรัฐประหารเพื่อไม่ให้ตายกันไปข้างหนึ่ง จึงได้แต่หวังว่าการรัฐประหารครั้งนี้ จะสามารถคลอดประชาธิปไตยได้ อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ประชาธิปไตยของคนเดือนพฤษภา ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบตัวแทน แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมโดยตรง ตรวจสอบการใช้อำนาจ และมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายที่สำคัญของชาติ นอกจากนั้นคนเดือนพฤษภาเห็นว่า อำนาจประชาชนจะต้องได้มาด้วยสันติวิธีเท่านั้น

ขณะที่ ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยรัฐประหาร แต่นายกฯ และคนไทยเข้าใจร่วมกันดี ว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ความรัก ความสมัครสมานของคนในชาติ และหากย้อนไปใน ปี 35 วีรชนพยายามหาทิศทางนำประเทศไปสู่ความเจริญ โดยหลักการปกครองที่กล่าวถึง คือ ธรรมาภิบาล ซึ่งจะเร่งบรรลุผลโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นความสงบคงเกิดได้ยาก ฉะนั้น จึงหวังว่า ประเทศไทยจะไม่มีการแบ่งแยก ไม่แตกแยกอีก

ทางด้าน นายสุรชัย ในฐานะตัวแทน สนช. กล่าวว่า เวลานี้แม่น้ำ 5 สาย กำลังหาทางออกให้ประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ว่าอะไรคือปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประเทศไทย แต่ภารกิจที่จะบรรลุได้ด้วยแม่น้ำ 5 สาย ถือเป็นภารกิจของประชาชนทุกคน เช่นเดียวกับวีรชนที่คาดหวังจะมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่การนำโดยพรรคการเมืองเดียวเท่านั้น ฉะนั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการรวมตัวครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการรำลึก แต่จะเป็นการสานต่ออุดมการณ์วีรชนอีกด้วย

ด้าน พล.อ.เอกชัย ในฐานะตัวแทนประธาน สปช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐตลอด และทุกๆ 20 ปี จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น เราจะปล่อยเวลาให้ผ่านไป และเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอีก 20 ปีข้างหน้าไม่ได้ เราต้องหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่ง สปช. กำลังทำเรื่องปรองดอง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา และวางแนวทางป้องกันปัญหาในอนาคต ขอย้ำว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งต้องใช้สันติวิธีเท่านั้น เพราะจะเป็นทางเดียวที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืนได้

เวลา 11.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “อนาคตการปรองดองและสมานฉันท์ของสังคมไทย” ในงานรำลึกเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ได้มีกลุ่มผู้หญิง จำนวน 4 คน ในนามกลุ่มเมล็ดพริก ได้เข้ามาชูป้ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อความว่า “เนติบริกรตัวพ่อ รับจ้างทำลายประชาธิปไตย”, “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2558” และ “ไม่ปรองดองกับฆาตกรรม” พร้อมได้อ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม ว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 35 มีข้อเรียกร้องของสังคมในเวลานั้น ที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้กองทัพเข้ามาสืบทอดอำนาจทางการเมือง และให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนที่ชัดเจน จนนำมาสู่การปราบปรามประชาชนในที่สุด แม้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพจะถอยออกจากการเมือง แต่เจตนารมณ์การต่อสู้ของประชาชน ได้หายไป และถูกลืมไปในที่สุด วันนี้เรามีรัฐบาลทหาร และคนที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์วันนั้น ได้ทรยศต่ออุดมการณ์อย่างไม่น่าให้อภัย

ดังนั้น ทางกลุ่มจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล 1. ประกาศยกเลิก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 2. ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารประชาชนในเหตุการณ์พฤษภา 35 3. นายกรัฐมนตรี และ ส.ว. จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 4. ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และ 5. กองทัพต้องไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กลุ่มดังกล่าวแสดงออกและอ่านแถลงการณ์นั้น ทางกลุ่มญาติวีรชน ได้พยายามขอร้องให้หยุดการแสดงออกดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับบรรยากาศการรำลึกถึงวีรชน แต่กลุ่มดังกล่าวก็ยังเดินหน้าจัดกิจกรรมต่อไป จนเจ้าหน้าที่เทศกิจต้องเข้าไปแยก และฉีกทำลายป้ายข้อความของกลุ่ม แต่ทางกลุ่มก็ยังดำเนินการกิจกรรมจนจบ ก่อนแยกย้ายออกจากงาน โดยที่ไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด











































กำลังโหลดความคิดเห็น