xs
xsm
sm
md
lg

ผบ.สส.ไทย-มาเลย์ถกร่วมมือแก้ค้ามนุษย์ เล็งใช้สงขลา-สตูลที่พักพิงชั่วคราวโรฮีนจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร (แฟ้มภาพ)
ผบ.สส.ไทย-มาเลเซีย ประชุม คกก.ระดับสูง หารือพัฒนาพื้นที่ชายแดน เสริมสร้างและขยายความร่วมมือร่วมกัน พร้อมเร่งแก้ปัญหาโรฮีนจา ค้ามนุษย์ เผย 29 พ.ค.นัด 15 ประเทศ ถกแนวทางแก้ปัญหาผู้อพยพ แม่ทัพภาคที่ 4 เผยเบื้องต้นเล็งพื้นที่สงขลา สตูล เป็นที่พักพิงชาวโรฮีนจา

ที่โรงแรมดุสิตธานี กทม. วันนี้ (15 พ.ค.) พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับสูงไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 31 ร่วมกับ พล.อ.ตัน สรี ดาโต๊ะ สรี ดอกเตอร์ ซุลกิฟลี บิน โมฮัมหมัด ซิน ผบ.สส.ของมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ชายแดน อีกทั้งการเสริมสร้างและขยายความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการรักษาความปลอดภัย ความร่วมมือด้านการตรวจคนเข้าเมือง และการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณชายแดน

ทั้งนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นการแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาและการค้ามนุษย์มาร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย โดยผลการประชุมครั้งนี้จะส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศ นอกเหนือจากการดำรงความสงบเรียบร้อย และความมีเสถียรภาพตามแนวชายแดนแล้วยังเป็นการขยายการพัฒนาในพื้นที่ชายแดนและการบริหารจัดการชายแดนร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป และข้อสรุปการประชุมในครั้งนี้จะรวบรวม เพื่อส่งต่อไปยังการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-มาเลเซียระดับภูมิภาค (อาร์บีซี) และคณะกรรมการทั่วไปไทย-มาเลเซีย (จีบีซี) อย่างไรก็ตามสำหรับการประชุมคณะกรรมการระดับสูงไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 32 จะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ

พล.อ.วรพงษ์กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้หารือกับ ผบ.สส.มาเลเซีย ถึงความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในการรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งการพัฒนาพื้นที่ชายแดน การเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ และงานด้านความมั่นคง นอกจากนี้ยังได้หารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาของชาวโรฮีนจากที่มาเลเซียเป็นประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยว่าจากนี้ไทยและมาเลเซียจะร่วมกันแก้ปัญหาและหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ได้มีประเทศใดผลักภาระการแก้ปัญหามาให้ไทยเพียงฝ่ายเดียว

ส่วนสถานที่กักกันชั่วคราวของชาวโรฮีนจาจะเป็นพื้นที่ใดนั้น พล.อ.วรพงษ์กล่าวว่า จะต้องรอความชัดเจนจากทางรัฐบาล โดยระหว่างนี้หากพบเจอชาวโรฮีนจาอีกก็จะช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และช่วยผลักดันให้เดินทางไปประเทศที่สามตามที่ชาวโรฮีนจาต้องการ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียร่วมกับ 15 ประเทศและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง จะทำให้แนวทางการแก้ปัญหาขบวนการค้ามนุษย์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ด้าน พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโรฮีนจา หลังการหารือของคณะกรรมการระดับสูงไทย-มาเลเซียว่า ตนในฐานะผู้ปฏิบัติและในฐานะที่ทำงานใกล้ชิดกับทางทหารของมาเลเซียก็จะมีการพูดคุยและอาจจะมีการปฏิบัติการเพิ่มเติมร่วมกันในการลาดตระเวนชายแดนในพื้นที่เขตป่าและเขาซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยถูกกลุ่มกระทำผิดกฎหมายใช้อยู่จะต้องได้รับการดูแล และจัดระเบียบพื้นที่บริเวณชายแดนที่อยู่ในกรอบของกองทัพ

แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า วันนี้ตนได้รับนโยบายว่าให้นำพาชาวโรฮีนจาที่อยู่ในป่ามีความอดยากและป่วยไข้ออกมารวมกันก่อนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ดูแล เราในฐานะกองกำลังป้องกันชายแดนและดูแลพื้นที่ชายแดนจะทำความสะอาดพื้นที่ชายแดนทั้งหมด และดำเนินการจัดระเบียบ ที่ผ่านมาตนได้นำภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ ตำรวจตระเวนชายแดน ขึ้นไปจัดระเบียบพื้นที่ชายแดนหรือขึ้นไปเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าต่อไปต้องดูแลพื้นที่ดังกล่าวนี้ร่วมกัน

“ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันที่จะเพิ่มพื้นที่ลาดตระเวนบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียอีกหลายจุด ถือเป็นนโยบายรัฐบาลในการดูแลความสงบ และการตรวจสอบขบวนการลักลอบการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มโรฮีนจาที่ใช้ชายแดนไทยเข้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมามีการลาดตระเวนของกำลังประจำพื้นที่อยู่แล้ว การคุยวันนี้เป็นการริเริ่มให้มีการเพิ่มเติมในหลายจุด เพื่อความรอบคอบรัดกุม”

พล.ท.ปราการกล่าวว่า การพบเรือของผู้อพยพชาวโรฮีนจาลอยลำใกล้เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ทางกองทัพภาคที่ 4 ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้ไปดูแล และจากการนำเสนอข่าวของสื่อโดยสัมภาษณ์ชาวโรฮีนจาเหล่านั้นก็ชัดเจนว่าเขาต้องการเดินทางไปประเทศไหน แต่ไปไม่ถึงเพราะอาหารหมด และเรือเสีย ทางการไทยก็ได้ดูแลไปตามหลักสิทธิมนุษยชน

ส่วนจะอนุญาตให้ขึ้นฝั่งเพื่อช่วยเหลือหรือไม่นั้น พล.ท.ปราการกล่าวว่า ถ้าเขาไปไม่ได้จริงๆ ก็ต้องดูแลตามความจำเป็น คงไม่ปล่อยให้จมน้ำตาย ถือเป็นนโยบายในการดูแลด้านมนุษยธรรมในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ถ้าเขาไปไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ปล่อยให้เป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนแนวคิดในการตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือนั้น ได้ดูไว้บ้างแล้วว่าจุดไหนที่มีความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ คงอยู่ในพื้นที่ภาคใต้แน่นอน แต่ไม่ใช่เกาะ ที่ดูไว้คือพื้นที่บริเวณ จ.สงขลา หรือ จ.สตูล โดยพิจารณาดูว่าตรงไหนพี่น้องประชาชนไม่ต่อต้าน ไม่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร อย่างไรก็ตาม คงยังไม่มีการระบุในตอนนี้ว่าศูนย์ดังกล่าวจะมีสถานะหรือเรียกชื่ออย่างไร เพราะจะมีผลกระทบในแง่กฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น