xs
xsm
sm
md
lg

กสม.ประณามบึ้ม 16 จุดยะลา จี้จับคนลงมือเพิ่มการดูแล แนะคนพื้นที่เป็นหูเป็นตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แถลงการณ์ กสม.ประณามผู้ก่อเหตุเหตุบึ้ม 16 จุดยะลา ซัดไร้มนุษยธรรม ใช้อาวุธสงคราม-ระเบิดป่วนประชาชน เสียใจต่อครอบครัวที่สูญเสีย จี้ยุติสำนึกการกระทำ ขอหน่วยเกี่ยวข้องเร่งหาตัวคนผิด เพิ่มการรักษาความสงบในพื้นที่ เยียวยาผู้รับผลกระทบ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา แนะภาคประชาชนในพื้นที่เป็นหูตาเฝ้าระวัง

วันนี้ (15 พ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรง และการกระทำที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมในพื้นที่จังหวัดยะลา โดยระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความกังวลและห่วงใยต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดมา เฉพาะอย่างยิ่งการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ด้วยวัตถุระเบิดและอาวุธสงคราม รวมถึงการกระทำที่ทารุณโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และป่าเถื่อน เช่น การใช้ระเบิดสังหารในที่ชุมชน การใช้อาวุธสงครามอันก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ร่างกายของประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว ยังเกิดความเศร้าสลดใจแก่ผู้ที่พบเห็นและสังคมโดยรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เสียใจ อย่างสุดซึ้งต่อทุกเหตุการณ์ ต่อทุกครอบครัวที่สูญเสียดังกล่าว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 58 ได้เกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในพื้นที่เทศบาลเมือง จ.ยะลา ราว 16 จุด เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน ยังความเศร้าสลดใจ และหวาดกลัวต่อการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ดังปรากฏเป็นข่าวแล้ว และขอประณามการกระทำของผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่ไร้มนุษยธรรม ผิดต่อกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรมซึ่งเป็นหลักสากล

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องขอให้ผู้ที่ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงได้ยุติการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ผิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิมนุษยชนทันที และได้สำนึกบาปต่อการกระทำดังกล่าว และหันกลับมาสร้างสันติสุข เพราะการกระทำดังกล่าวนอกจากจะละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดต่อมนุษยธรรม ขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานด้านความมั่นคง ต้องเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว และรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย แก่ประชาชนในพื้นที่ให้เข้มงวดยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กลุ่มเด็ก สตรี และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ต้องได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ให้กลับคืนมา พร้อมดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาความเสียหาย ฟื้นฟูจิตใจและความบอบช้ำของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และในส่วนของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากจะช่วยกันเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรง หรือการก่อกวนหรือการสร้างสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความหวาดกลัว โดยเป็นหูเป็นตาให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐอีกทางหนึ่ง ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและการบรรลุเป้าหมายในการสร้างสันติสุขในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น