ผ่าประเด็นร้อน
ก็เป็นไปตามความคาดหมาย ในที่สุดผลการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ก็มีมติให้มีการ “ทำประชามติ” ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะมีการแถลงรายละเอียดและเหตุผลต่อสาธารณะตามมา แต่ทุกอย่างสามารถคาดเดาได้ไม่ยากอยู่แล้ว
ตามขั้นตอนต่อไป จะมีการการเสนอความเห็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ พ.ศ. 2557 ในมาตรา 46 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อดำเนินการต่อไป
แน่นอนว่าการจะทำประชามติก็ต้องมีขั้นตอน มีรายละเอียดวิธีการตามมามากมาย ทั้งการออกกฎหมาย การใช้งบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งมีคนคำนวณเอาไว้คร่าวๆแล้วว่าต้องใช้ไม่น้อยกว่า 3 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี เรื่องค่าใช้จ่าย และเรื่องรายละเอียดของกฎหมายก็เป็นอีกเรื่องที่จำเป็น แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันก่อนในที่นี้ก็คือ สาเหตุและความจำเป็นที่ต้องทำประชามติ รวมไปถึงผลที่จะตามมา ทั้งก่อนและหลังการทำประชามติ เพราะทุกขั้นตอนในช่วงนั้นถือว่าสำคัญยิ่งยวดคลาดสายตาไม่ได้เลย ทุกอย่างต้องลุ้นกันแบบหวาดเสียวไม่น้อย
ที่ผ่านมามีการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องการลงประชามติกันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จากความเห็นส่วนตัวของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลายคน โดยเฉพาะที่น่าสนใจก็คือความเห็นของ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าสมควรต้องทำประชามติ ซึ่งเหตุผลก็คล้ายๆกันคือเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า แม้จะมาจาก “มดลูกเผด็จการ” คือ มีต้นกำเนิดจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่หากได้รับความเห็นชอบจากประชาชนแล้ว มันก็เหมือนเป็นเกราะป้องกันป่วน โดยเฉพาะจากพวกบรรดานักการเมืองที่เสียประโยชน์ ทำให้เงื่อนไขลดลงไปได้มาก
จากท่าทีดังกล่าวของประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ที่มีออกมาให้เห็นชัดเจนโดยเฉพาะในช่วงท้ายๆ ทำให้คาดการณ์กันตั้งแต่ต้นแล้วว่าในที่สุดแล้วก็ต้องมีการทำประชามติอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี ที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งก็คือ คนสำคัญอีกคนหนึ่งอย่าง นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับสงวนท่าทีเกี่ยวกับเรื่องการทำประชามติมาโดยตลอด หากแต่จับความได้แต่เพียงว่า “แล้วแต่ความเห็นของสังคม” หรือ “ให้ไปว่ามาว่าจะเอาอย่างไร”
แน่นอนว่าระดับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมไม่ธรรมดา เขาย่อมรู้ดีว่าเรื่องแบบนี้มัน “ละเอียดอ่อน” จะออกตัวเร็วและแรงเหมือนเรื่องอื่นคงไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกันกับเรื่องอนาคตแบบแยกไม่ออก ที่สำคัญยังเป็นเรื่องที่อาจทำให้สังคมเข้าใจผิด หรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปสร้างเงื่อนไขบิดเบือนแล้วป่วนก็ทำได้ง่าย ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือสงวนความเห็นเอาไว้ ปล่อยให้มีการแสดงความเห็นจนตกผลึกไปเอง และลอยตัวดีกว่า
สิ่งที่น่าจับตาก็คือ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นมันก็ต้องผ่านการพิจารณาลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่าจะมีความเห็นอย่างไร ถ้าเห็นชอบก็ไม่มีปัญหาปล่อยผ่านไปถึงขั้นทำประชามติต่อไป แต่อีกด้านหนึ่งหากไม่ผ่านละ ก็จะเป็นเรื่องใหญ่เช่นเดียวกัน เพราะนั่นหมายความต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ซึ่งหากพิจารณาจากความเป็นไปได้การที่ สปช.โหวตคว่ำยังเป็นไปได้มากกว่าการลงประชามติแล้วไม่ผ่านเสียอีก
แต่ทั้งสองเรื่องแน่นอนว่าหากพูดมากไปในตอนนี้มันก็เหมือนตีตนไปก่อน และพูดมากเกินเหตุ แต่เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะลงประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน หรือร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำเสียก่อนจนต้องเริ่มต้นใหม่ ก็จะทำให้ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องแยู่ทำหน้าที่คุมเกมต่อไป ทำหน้าที่ปฏิรูปต่อไป อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 เดือนถึง 2 ปีทีเดียว แล้วแต่ว่าหวยจะออกทางไหน!!