ตัวแทนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ยื่นหนังสือ “เทียนฉาย-บวรศักดิ์” จี้ยกเลิก 3 มาตรา ยุบกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านตั้ง อปท. อ้างกระทบพระราชอำนาจ ชี้แก้ไม่ได้ทำวุ่นวาย เปิดทางนักการเมืองเล่นพรรคเล่นพวก แย่งชิงผลประโยชน์ชาติ ขอให้คงไว้แบบเดิม
วันนี้ (11 พ.ค.) นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านประมาณ 30 คน ได้ยื่นหนังสือต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ยกเลิกมาตรา 82 (3) มาตรา 284 (5) และมาตรา 285 เพราะจะเป็นการกระทบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างมิบังควร ในการแต่งตั้งข้าหลวงประจำจังหวัด หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นข้าราชการแผ่นดิน และทำหน้าที่ดูแลประชาชนแทนพระเนตรพระกรรณ อีกทั้งยังไม่อาจแก้ปัญหาประเทศชาติและประชาชนได้เลย มีแต่จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไร้ความเป็นธรรม เกิดการทุจริตภาษีประชาชนทุกหย่อมหญ้า ไร้การควบคุมตรวจสอบถ่วงดุล บ้านเมืองเสียหายใหญ่หลวงเนื่องจากเกิดการเล่นพรรคพวก ผลประโยชน์เพื่อเข้าสู่อำนาจผู้บริการ อปท.ระดับจังหวัด และระดับภาค ซึ่งจะมาจากการเลือกตั้งเกิดการแย่งภาษีงบประมาณแผ่นดิน ทรัพยากรชาติ แย่งชิงประชาชน รวมทั้งแย่งชิงดินแดน ซึ่งทั้ง 3 มาตราจะทำให้ไม่มีข้าราชการส่วนภูมิภาคและข้าราชการส่วนปกครอง ซึ่งรวมไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เป็นรากฐานของแผ่นดินและประชาชนโดยแท้จริง
“ขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกเลิกทั้ง 3 มาตราดังกล่าวเพื่อความสงบสุขของประชาชนทั้งประเทศ เพราะอาจมีวาระซ่อนเร้นให้นักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองเข้ามามีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยขอให้คงไว้ซึ่งราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาค ทั้งในระดับ จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และราชการส่วนท้องถิ่นเอาไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างยั่งยืนและเหมาะสมกับสังคมไทย หากจะปฏิรูปท้องถิ่นก็ควรจะปรับปรุงรูปแบบให้สอดคล้องกัน” นายยงยศกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับมาตราในร่างรัฐธรรมนูญที่สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้ยกเลิก ได้แก่
มาตรา 82 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และต้องจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่น ดังต่อไปนี้
(3) กระจายอำนาจ และจัดภารกิจ อำนาจหน้าที่ และขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น
มาตรา 284 ให้มีการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวทางดังต่อไปนี้
(5) ให้มีองค์กรบริหารการพัฒนาภาคทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในภาคและ กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ จัดทำแผนและบริหารงบประมาณแบบพื้นที่เพื่อดำเนินการพัฒนาภาคที่ สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ซึ่งไม่ซ้ำซ้อนกับงานของจังหวัดและองค์กรบริหารท้องถิ่น ประสานการพัฒนา พื้นที่บริหารงานระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการและ ยั่งยืนของการพัฒนาในระดับพื้นที่ของหลายจังหวัด ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 285 ให้มีการปฏิรูปด้านการบริหารท้องถิ่นตามแนวทางดังต่อไปนี้
(1) ตรากฎหมายและจัดให้มีกลไกที่จำเป็นสำหรับการจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัดให้เสร็จสมบูรณ์ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินการจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นดังกล่าวขึ้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมและเหมาะสมโดยเร็ว
(2) ให้มีคณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากสมัชชาพลเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อกำหนดนโยบาย กำหนดมาตรฐานกลาง และขับเคลื่อนการกระจายอำนาจอย่างมีเอกภาพและสามารถดำเนินการให้การกระจายอำนาจเป็นผลสำเร็จ โดยให้มีสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจแห่งชาติ รับผิดชอบงานธุรการและปฏิบัติหน้าที่อื่นที่จำเป็น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ