xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง รธน.-ปฏิรูปประเทศอย่าลืมเรื่องหลักผ่าตัดระบบราชการ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผ่าประเด็นร้อน

อีกไม่กี่วันก็จะครบปีของการเข้ามาของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และหกเดือนกว่าของการเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จ อย่างไรก็ดี ผลงานการบริหารของรัฐบาล และ คสช. คงต้องรอจังหวะกล่าวถึงในโอกาสอันใกล้นี้ แต่สิ่งที่น่าฉวยโอกาสเร่งเร้าให้เห็นเป็นผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว ก็คือ “การปฏิรูประบบราชการ” ที่น่าจะผลักดันควบคู่กันไปด้วย

ที่ผ่านมาจะว่าไปแล้วการปฏิรูปการเมืองการปกครอง รวมถึงการปฏิรูประบบราชการเป็นหัวใจหลักที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

อย่างไรก็ดี เมื่อมีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เกิดขึ้นมาแล้ว และหัวข้อเรื่องการปฏิรูประบบราชการก็เป็นหนึ่งในหัวข้อหลักที่จะต้องผลักดันให้เกิดผล แต่ล่าสุดเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ทำให้ดูเหมือนว่าการปฏิรูประบบราชการกำลังมีอาการ “แผ่วลง” อย่างเห็นได้ชัด เพราะแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่น่าเชื่อว่าจะมีพลังในการผลักดันสูงสุดคนหนึ่ง กลับแสดงท่าทีวางเฉย เหมือนกับยอมรับสภาพที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ อ้างในทำนองว่า “ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดความวุ่นวายตามมา”

ไม่อยากจะกล่าวหาว่า อุปสรรคของการปฏิรูประบบราชการ มาจากบรรดาระดับบิ๊กในหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรม เป็นองคาพยพในรัฐบาลนั่นแหละ และที่สำคัญจะว่าไปแล้วตั้งแต่ระดับสูงสุดลงมา คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เติบโตมาจากระบบราชการ คนรอบข้างใกล้ตัวแทบทั้งหมดก็ล้วนเป็นข้าราชการ หรือมาจากราชการ ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ระยะหลังฝ่ายที่ขัดขวางไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรก็ล้วนมาจากคนใกล้ตัว รัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญ หน่วยงานหลักที่ประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปโดยเร็วที่สุด

แน่นอนว่า ถ้าถามว่าประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปหน่วยงานไหนมากที่สุด คำตอบจะมีทันทีแบบไม่ต้องสำรวจให้เสียเวลา คือ กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม พลังงาน ระบบการศึกษา เป็นต้น นี่ว่ากันเฉพาะที่นึกกันแบบอัตโนมัติ พูดกันแบบเร็วๆ

แต่กลายเป็นว่าหน่วยงานพวกนี้กลับมีอิทธิพลที่ยากจะโยกคลอนได้ เพราะติดด้วยเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ที่พวกเขาต้องรักษาเอาไว้สุดชีวิต ดังที่มีความเคลื่อนไหวภายในกระทรวงมหาดไทยในเวลานี้ เพียงแค่เรื่องที่จะโอนย้ายบางหน่วยงาน เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไปอยู่ในสังกัดของกระทรวงพลังงาน ก็ทำให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ต้องทำหนังสือด่วนที่สุดคัดค้านอย่างเต็มที่

กรณีดังกล่าวไม่ต้องไปพูดถึงความถูกผิด เหมาะสมหรือไม่อย่างไร เพราะเป็นเรื่องของรายละเอียด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าอะไรก็ตามที่ตัวเองเคยมีเคยได้ ก็จะต้องหวงเอาไว้ก่อน เหมือนกับการกระจายอำนาจ การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ที่ดูไปดูมาแล้วจะไม่มีทางขยับไปไหน

การผ่าตัดโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็หยุดนิ่งไปโดยปริยายแล้ว สถานะของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ประชาชนต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันที่ให้มีการสั่งคดีอย่างอิสระและลดข้อกังขาในเรื่องความโปร่งใสตรวจสอบได้ กลับไม่มีใครพูดถึงกันแล้ว

อย่างไรก็ดี ต้องย้ำว่าการปฏิรูประบบราชการมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด มีความสำคัญต่อเจ้าของประเทศคือประชาชน ประเทศจะก้าวหน้าแข่งขันกับทุกประเทศในโลก ลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจนย่อมมีความเกี่ยวข้องกัน

ตัวอย่างของความล้มเหลวของระบบราชการที่เชื่อมโยงกับระบบการเมืองที่ห่วยแตก จึงเกิดปัญหากรณีถูกลดมาตรฐานการบินของไทย เรื่องการค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย และกรณีของผู้อพยพโรฮีนจา ทุกกรณีล้วนเกี่ยวพันกับระบบราชการที่ล้าหลัง ความฉ้อฉลของข้าราชการที่ใช้อำนาจมิชอบ และนี่คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ดังนั้น ส่วนสำคัญนอกจากพลังประชาชนจะต้องช่วยกันผลักดันการปฏิรูประบบราชการอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด จะเล็งเห็นความสำคัญออกแอ็กชั่นให้เห็นมากกว่านี้ เพราะหากไม่ขยับก็จะเสียของ เปล่าประโยชน์!!
กำลังโหลดความคิดเห็น