“ประวิตร - อนุพงษ์” สั่งทหาร - ตำรวจ สแกนหาแคมป์กัก “โรฮิงญา” ทั่วประเทศสั่ง ผู้ว่าฯ - ท้องถิ่น ห้ามทำผิดกฎหมาย เชื่อ ข่าวแคมป์โรฮิงญาไม่กระทบการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของไทย อีกรอบ
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ามาตรวจสอบกรณีมีการอ้างว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเรียกค่าไถ่โรฮิงญา ว่า เรื่องนี้ต้องตรวจสอบในรายละเอียด ว่า เป็นชื่อของใคร ขณะนี้มีเพียงข่าว แต่ยังไม่มีรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร หากใครเกี่ยวข้องจะถูกดำเนินคดีทุกคน ตนยังไม่เคยบอกว่าเป็นใคร แต่บอกว่าหากเป็นข้าราชการ ตั้งแต่ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ก็ต้องถูกลงโทษทั้งหมด รวมถึงการดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากมีปัญหาก็ต้องแก้ไข ที่ผ่านมา เราพยายามแก้ปัญหาเรียบร้อยแล้ว ซื่งต่างประเทศก็เห็นว่าเราดำเนินการอย่างจริงจังและโปร่งใส ซึ่งเขาก็พอใจ ทั้งนี้ หากรัฐบาลทราบว่าใครเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จะดำเนินการทั้งหมด
“ตอนนี้ผมยังไม่รู้ว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง เพียงแต่มีข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลจะตรวจสอบทั้งหมดในทุกพื้นที่ โดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้สั่งการผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้เร่งตรวจสอบในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ส่วนผมได้สั่งการให้กองทัพ และตำรวจ เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ที่อยู่ในรับผิดชอบเช่นกัน ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เกิดมานานแล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ ทั้งนี้ เรามีความพร้อมในการชี้แจงกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะเดินทางมาติดความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงของไทย ไม่ต้องห่วง เราสามารถชี้แจงได้ทั้งหมด และยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลต่อการจัดอันดับการค้ามนุษย์ ที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย. นี้ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินหรือไม่ เพราะการหลบหนีเข้าเมืองมีทุกพื้นที่ ไม่สามารถห้ามได้” พล.อ.ประวิตร กล่าว
ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการประชุมข้อสั่งการผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ว่า ตนต้องการพูดกับทุกกลไกของกระทรวงในเรื่องของการปฏิบัติงาน หน้าที่ และนโยบาย โดยเน้นย้ำไม่มีการทำผิดกฎหมายและไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนกำลังลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ จึงขอเน้นย้ำเป็นพิเศษว่าไม่ให้มีการค้ามนุษย์หรือซุกซ่อนชาวโรฮิงญาในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ถ้าพบว่ามีข้าราชการกระทำผิดกฎหมาย หรือเกี่ยวข้องกับการทำผิด จะต้องมีมาตรการเข้ามาดูแลโดยใช้กลไกทางปกครองผ่านระดับผู้บังคับบัญชา ส่วนการใช้มาตรการทางปกครอง อาทิ ถ้าพบว่ามีการกระทำผิดหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จะต้องถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอน ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีกำหนดกรอบเวลา 10 วัน ในการตรวจสอบการค้ามนุษย์ในพื้นที่นั้น ถือว่าไม่กดดัน โดยตนจะกำหนดมาตรการเข้มงวดให้มากขึ้นนับตั้งแต่วันนี้.