“สมบัติ” เผยมติ กมธ.ปฏิรูปการเมืองจัดสัมมนา 2 ครั้ง ระดมความเห็นแก้ร่าง รธน. เชิญ 74 พรรค-ภาค ปชช. และตัวแทนสถานศึกษา ก่อนรวมความเห็นส่ง กมธ.ยกร่างฯ 25 พ.ค. ชี้อยู่ที่ คสช.ให้พรรคการเมืองร่วมหรือไม่ เชื่อไม่น่ามีปัญหา คาด ประชามติมีผลดี แนะเหมาะสมที่สุดคือทำประเด็นเดียว
วันนี้ (6 พ.ค.) ที่รัฐสภา นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติจัดสัมมนา 2 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นเพื่อขอเสนอญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยครั้งแรกจะมีขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเชิญตัวแทนของพรรคการเมืองทั้ง 74 พรรค กับภาคประชาชนต่างๆ และครั้งที่ 2 จะเป็นการเชิญคณบดีหรือตัวแทนจากคณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อมาให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อการเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ คณะอนุ กมธ.เตรียมญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานจะรวบรวมความเห็นต่างๆ ทั้งจาก กมธ.และจากการสัมมนาทั้ง 2 ครั้ง ก่อนร่างเป็นญัตติขอแก้ไขเพื่อส่งไปให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ เชื่อว่าความเห็นจากการสัมมนาทั้ง 2 ครั้งน่าจะมีประเด็นที่ตรงกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับการเสนอขอแก้ไข ถ้ามีส่วนที่เห็นแย้งแต่มีนัยยะสำคัญทาง กมธ.ก็จะเพิ่มเติมเป็นญัตติให้
เมื่อถามว่า พรรคการเมืองจะขออนุญาต คสช.เพื่อจัดประชุมพรรคระดมความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ นายสมบัติกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าจะอนุญาติหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมีผลต่อพรรคการเมืองในฐานะผู้ใช้ ซึ่งหากเป็นการปรึกษาหารือกันธรรมดา ไม่ได้สร้างเงื่อนไขก็ไม่น่ามีปัญหา ส่วนเรื่องการทำประชามติก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีถ้าทำประชามติแล้วประชาชนเห็นด้วยรัฐธรรมนูญก็จะมีความชอบธรรม ส่วนข้อเสียก็จะทำให้การเลือกตั้งล่าช้า เพราะการทำประชามติต้องใช้เวลาเพื่อให้ประชาชนในการทำความเข้าใจ การทำประชามติที่เหมาะที่สุดคือต้องทำประเด็นใดประเด็นเดียว อย่างสกอตแลนด์ขอแยกจากสหราชอาณาจักร เพราะในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 มีรายละเอียดที่ผิดตรรกะ เช่น เวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ แต่ก่อนประกาศกับไม่ต้องทำซึ่งไม่สมเหตุสมผล แต่ถ้าจะทำประชามติรายประเด็น หรือรายมาตราก็จะยุ่งยากมาก ขณะเดียวกัน บรรยากาศทางการเมืองก็มีส่วน เพราะเริ่มมีความกังวลกันว่าการทำประชามติอาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้าแล้วบ้านเมืองจะช้ำไปมากกว่านี้หรือไม่ เพราะคนชอบก็จะสนับสนุน แต่คนไม่ชอบก็อาจจะไม่สนับสนุน แต่ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าการทำประชามติน่าจะมีผลดีมากกว่า